ไม่พบผลการค้นหา
อิหร่านครองแชมป์เมืองที่ค่ามลพิษสูงที่สุดในโลก ขณะที่อินเดียเป็นประเทศที่มีเมืองมลพิษมากที่สุด และออสเตรเลียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอากาศที่สะอาดที่สุดในโลก

รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ในแต่ละปีประชากรทั่วโลกกว่า 7 ล้านคนที่เสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ หรือคิดเป็น 11 % ของสาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นทั่วโลก

กรุงนิวเดลีและกรุงปักกิ่ง เป็นชื่อเมืองอันดับต้นๆ ที่ผู้คนมักจะนึกถึงเมื่อกล่าวถึงปัญหามลพิษทั่วโลก แต่รายงานฉบับนี้กล่าวว่า ไม่ใช่ทั้ง 2 เมืองที่มีมลพิษสูงที่สุด แต่เป็นเมืองซาโบลของอิหร่าน ที่ครองแชมป์เมืองที่มีมลพิษสูงสุด โดยวัดจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ยสูงถึง 217 มคก./ลบ.ม. ขณะที่ข้อกำหนดของ WHO ระบุว่าแต่ละเมืองควรมีค่าเฉลี่ยของ PM 2.5 อยู่ที่ 10 มคก./ลบ.ม. เท่านั้น


000_YT66G.jpg

(สภาพหมอกควันมลพิษในอิหร่านปัจจุบัน)

ส่วนอินเดียเป็นประเทศที่มีเมืองติดอันดับค่ามลพิษสูงเป็นจำนวนมากที่สุด คือ 9 เมือง ได้แก่ เมืองกวาลิออร์ เมืองอัลลาฮาบัด เมืองปัดทา เมืองไรปูร์ เมืองเดลี เมืองลูดินา เมืองกันปูร์ เมืองไฟโรซาบัด เมืองลัคเนา โดย 9 เมืองนี้มีค่าเฉลี่ยมลพิษฝุ่นละอองอยู่ตั้งแต่ 113 - 176 มคก./ลบ.ม. และประเทศที่ติดอันดับรองลงมาคือ จีนมี 4 เมือง คือ เมืองซิงไถ่ เมืองเบาดิ่ง เมืองสือเจียจวง และเมืองฮันดั้น โดยทั้ง 4เมืองนี้มีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอยู่ตั้งแต่ 112-128 มคก./ลบ.ม. และซาอุดีอาระเบียเริ่มมีปัญหามลพิษฝุ่นละอองเช่นกันโดยมี 3 เมืองที่ติดอันดับได้แก่ กรุงริยาดห์ เมืองอัล จูบาอิล และเมืองดัมมัม โดยมีค่าเฉลี่ยมลพิษฝุ่นละอองอยู่ที่ 121-156 มคก./ลบ.ม.

รายงาน WHO ยังกล่าวอีกว่า มลพิษในเขตเมืองของปากีสถานสูงที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย 115.7 มคก./ลบ.ม ตามมาด้วยกาตาร์ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ และอียิปต์ ขณะที่อินเดียอยู่อันดับที่ 8 ค่าเฉลี่ยมลพิษ PM2.5 อยู่ที่ 60.6 มคก./ลบ.ม. และจีนอยู่อันดับที่ 13 ค่าเฉลี่ยมลพิษอยู่ที่ 41.4 มคก./ลบ.ม. ขณะที่กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยมลพิษตลอดทั้งปี 2017 อยู่ที่ 24 มคก./ลบ.ม. ซึ่งถูกจัดว่าอยู่ในระดับที่ยังควบคุมได้

ส่องวิธีการแก้ปัญหามลพิษจากจีนและอินเดีย

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา 25 วันจาก 31 วันของเดือน ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศของปักกิ่งอยู่ในระดับดีถึงดีมาก ตามการรายงานของหน่วยงานควบคุมดูแลสิ่งเเวดล้อมของปักกิ่ง ทำให้อากาศในปักกิ่งกลับมาสดใสได้อีกครั้งหลังจากที่ถูกปกคลุมด้วยหมอกพิษจากฝุ่นละอองและควันจากอุตสาหกรรมมาเป็นเวลาหลายปี โดยค่า PM 2.5 อยู่ในระดับ 34 มคก./ลบ.ม. 

ค่า PM2.5 ที่ลดลงนั้นลดลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านๆ มา ทำให้ปักกิ่งกลับมาติด 1 ใน 10 เมืองในจีนที่มีอากาศที่ดีอีกครั้งในเดือนธันวาคมปี 2017


000_WC94T.jpg

(สภาพอากาศในปักกิ่งเมืองเดือนมกราคมที่ผ่านมา ท้องฟ้าสดใสไร้หมอกมลพิษ)

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศสงครามกับมลพิษทางอากาศมาตั้งแต่ปี 2013 โดยมีการสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมหนักจำนวนมากในเขตเมือง โดยเฉพาะอุตสาหกรรม��หล็กที่เป็นอุตสาหกรรมหลักในเขตทางตอนเหนือของประเทศ เช่นมณฑลเหอนาน มณฑลเหอเป่ย มณฑลชานตง เป็นต้น

3 มณฑลนี้จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในจีน นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังมีนโยบายลดการใช้รถยนต์ของประชาชน โดยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีความทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ๆ รวมไปถึงการจำกัดการก่อสร้างที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองโดยรอบด้วย

ขณะที่รัฐบาลอินเดียได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดปัญหามลพิษที่มีอยู่สูง โดยเฉพาะในเขตปกครองเดลี ที่ค่ามลพิษพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องมีการปิดการเรียนการสอนในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา มาตรการดังกล่าวนี้มีทั้งการจำกัดการใช้รถยนต์ของประชาชนที่ออกมาวิ่งบนถนน โดยอนุญาตให้วิ่งเป็นวันและเวลาที่กำหนดเท่านั้น รวมไปถึงการเพิ่มอัตราค่าจอดรถในพื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยหวังให้คนลดการใช้รถยนต์ ทั้งยังสั่งเพิ่มสายรถประจำทางและขบวนตู้โดยสารรถไฟใต้ดิน เพื่อรองรับประชาชนในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้มากกว่าเดิม รวมไปถึงการสั่งลดการก่อสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง และลดการปล่อยควันของอุคตสาหรรมหนัก

มาตรการดังกล่าวของอินเดียยังต้องจับตามองว่าจะสามารถปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทั่วทั้งอินเดีย ไม่เพียงแต่ในเขตปกครองเดลี ยังมีอีก 9 เมืองที่ประสบกับปัญหามลพิษที่เฉลี่ยทั้งปีแล้วยังสูงกว่า 100 มคก./ลบ.ม.

ประเทศใด เมืองใด มีอากาศที่สะอาดที่สุดในโลก

'ออสเตรเลีย' ครองแชมป์ประเทศที่มีมลพิษในอากาศน้อยที่สุด คือมีค่าเฉลี่ย PM2.5 อยู่ที่ 5.7 มคก./ลบ.ม. เท่านั้น ตามมาด้วยบรูไน นิวเซีแลนด์ เอสโตเนีย และฟินแลนด์ ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 11 มีค่า PM 2.5 อยู่ที่ 10 มคก./ลบ.ม. ส่วนสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 17 มีค่า PM 2.5 อยู่ที่ 12.9 มคก./ลบ.ม. และมาเลเซียเพื่อนบ้านของไทย อยู่ในลำดับที่ 19 โดยมีค่าเฉลี่ย PM 2.5 อยู่ที่ 13.2 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่กรุงสต็อกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน ครองแชมป์เมืองหลวงที่มีอากาศที่สะอาดที่สุดในโลก ตามมาด้วย เวลลิงตัน ของนิวซีแลนด์ แคนเบอร์ร่าของออสเตรเลีย และออตตาวาของแคนาดา ตามลำดับ


000_Par3020496.jpg

(การขี่จักรยานในกรุงสต็อกโฮล์ม หนึ่งในมาตรการลดการใช้รถยนต์ของรัฐบาลสวีเดน)

สต็อกโฮล์มครองแชมป์เป็นเมืองสีเขียวของยุโรปมาตั้งแต่ปี 2010 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์จากมลพิษที่ปล่อยออกมาทั้งหมด และภายในปี 2050 สต็อกโฮล์มตั้งเป้าหมายว่า ต้องไม่มีการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลทั้งหมด และมีการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การบำบัดน้ำเสีย และเพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำให้มากขึ้น รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมการขี่จักรยานให้แก่เมืองเพื่อลดการใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวันของประชาชน

เรียบเรียงจาก telegraph south china morning และ NDTV