อายุ เอซา เทียรา ทนายจากสถาบันกฎหมายจาการ์ตา หนึ่งในทนายความที่ทำคดีนี้ กล่าวว่าขณะนี้มีชาวเมือง 31 คนร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย รัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีสาธารณสุข รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้ว่าฯ กรุงจาการ์ตา ผู้ว่าฯ จังหวัดบันเติน และผู้ว่าฯ จังหวัดชวาตะวันตก โดยกลุ่มผู้ฟ้องร้องเป็นประชาชนธรรมดา ประกอบด้วยศิลปิน นักวิชาการ และนักธุรกิจ ที่ต้องการเรียกร้องให้ศาลบังคับให้รัฐดำเนินมาตรการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพกว่านี้
"เราพยายามอย่างหนักเพื่อให้รัฐบาลตระหนักว่าปัญหามลพิษในจาการ์ตาและผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นย่ำแย่ขนาดไหน ด้วยการแสดงข้อมูลและผลการวิจัยให้พวกเขาเห็น แต่รัฐบาลยังคงไม่ตอบรับแก้ไข" อายุ เอซา เทียรา กล่าวและเสริมว่าหวังว่าการฟ้องร้องรัฐบาลในครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการพัฒนานโยบายและเป็นก้าวสำคัญต่อการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ เนื่องจากนโยบายต่างๆ ในปัจจุบันนั้นไม่ได้ผล
รัฐบาลได้เคยปฏิเสธไม่ยอมรับว่าคุณภาพอากาศในจาการ์ตาย่ำแย่ลงในปีที่ผ่านมา และเรียกร้องสื่อว่า 'อย่าดราม่า' กับสถานการณ์ฝุ่นนัก ทว่าทางด้าน บนดีน อันดรียานู จากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม กรีนีซ อินโดนีเซีย ชี้ว่ามลพิษในอากาศแย่ลงอย่างต่อเนื่อง
เว็บไซต์ Air Visual เผยว่าจาการ์ตาชี้ว่ากรุงจาการ์ตา มีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยในปี 2561 ถึง 45.3 มค.ก./ลบ.ม. โดยสูงที่สุดในเดือนกรกฎาคมที่ 72.5 มค.ก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 นี้สูงขึ้นจากในปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ 29.7 มค.ก./ลบ.ม. ส่งผลให้ในปัจจุบันจาการ์ตาเป็นเมืองที่มีสภาพอากาศย่ำเป็นอันดับที่ 160 ของโลก จัดเป็นเมืองที่มีมลพิษที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2561
อย่างไรก็ตาม ดัสรูล จานิอาโก ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมมลพิษ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซีย กล่าวว่าทางรัฐบาลไม่ยอมรับการจัดอันดับของ Air Visual เนื่องจากใช้เครื่องมือที่ใช้วัดวัดคุณภาพอากาศตั้งอยู่ในร่ม ไม่ใช่กลางแจ้ง พร้อมเสริมว่าคุณภาพอากาศในจาการ์ตาแย่ลงเป็นปกติอยู่แล้วในช่วงหน้าแล้ง ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน
“อย่าดราม่าไปหน่อยเลย” จานิอาโก กล่าว
สำหรับประเทศไทย รายงานของเว็บไซต์ Air Visual ชี้ว่าในกรุงเทพฯ มีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยทั้งปี 25.2 มค.ก./ลบ.ม. โดยสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ 48.6 มค.ก./ลบ.ม. จัดเป็นเมืองมลพิษอันดับที่ 498 ของโลก ส่วนจังหวัดเชียงใหม่มีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยทั้งปี 24.5 มค.ก./ลบ.ม. สูงสุดในเดือนมีนาคม 72.5 มค.ก./ลบ.ม. อยู่อันดับที่ 522 ของโลก ทั้งนี้ จังหวัดที่ Air Visual ชี้ว่ามีปัญามลพิษรุนแรงที่สุดคือจังหวัดสมุทรสาคร มีค่า PM2.5 เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 39.8 มค.ก./ลบ.ม. อยู่อันดับที่ 223 ของโลก
ในด้านของการสั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยชาวกรุงเทพฯ 41 คน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ว่านายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุม ระงับ หรือบรรเทาอันตรายจากการแพร่กระจายฝุ่นละออง PM2.5
จำเลยทั้งสามได้ขยายระยะเวลาชี้แจงออกไปเรื่อยๆ กระทั่งศาลนัดชี้แจงในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ จำเลยทั้งสามจึงได้ส่งผู้แทนรับมอบอำนาจมาให้ถ้อยคำต่อศาลซึ่งยืนยันการปฏิบัติตามมาตรการ 9 ข้อของนายกรัฐมนตรี และ ณ วันนั้นยังไม่มีการกำหนดรับฟังคำสั่งศาล
ขณะที่ทางประเทศฝรั่งเศสนั้น ในเดือนธันวาคม 2559 แม่ลูกคู่หนึ่งได้สั่งฟ้องรัฐ ฐานละเลยการแก้ปัญหากระทั่งได้รับความเจ็บป่วย ล่าสุด 25 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ศาลฝรั่งเศสได้ตัดสินว่ารัฐกระทำความผิด เนื่องจากไม่ได้มีมาตรการรับมือที่เพียงพอในการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศ และศาลสั่งให้รัฐต้องออกมาตรการที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ
ที่มา: The Guardian / CNN / The Jakarta Post / BBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: