ไม่พบผลการค้นหา
มิเชล บาเชเลต์ อดีตประธานาธิบดีชิลีได้รับเลือกให้เป็นประธาน UNHRC คนต่อไป ท่ามกลางความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนหลายด้าน ขณะเดียวกันประเทศที่เคยเป็นผู้นำโลกเสรีอย่างสหรัฐฯ ก็ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอย่างที่ผ่านมาแล้ว

อันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติ เสนอชื่อให้ มิเชล บาเชเลต์ อดีตประธานาธิบดีของชิลีขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC ต่อจากนายเซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนก.ย.นี้ แต่บาเชเลต์ยังไม่ได้ตอบรับ

การเสนอชื่อบาเชเลต์มีขึ้น หลังนายอัล ฮุสเซนประกาศว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า การเป็นประธาน UNHRC ต่อในบริบทภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบัน อาจต้องยอมโอนอ่อนร้องขอให้หลายประเทศหยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน

เบโรนิกา มิเชล บาเชเลต์ เฆเรีย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า มิเชล บาเชเลต์ถือเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนคนสำคัญของชิลี โดยปี 1973 ที่พลเอกออกัสโต ปีโนเชต์ทำรัฐประหารและขึ้นเป็นผู้นำเผด็จการของชิลี เธอกำลังเรียนแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิลีและเข้าไปร่วมทำงานกับพรรคสังคมนิยม พ่อของบาเชเลต์ ซึ่งเป็นนายพลอยู่ในกองทัพอากาศถูกคุมขังและทรมาน จนเสียชีวิตในเรือนจำ และในปี 1975 บาเชเลต์และแม่ของเธอก็ถูกจับกุมและทรมานอยู่นานหลายสัปดาห์ด้วย

เมื่อถูกปล่อยตัว บาเชเลต์และแม่ลี้ภัยอยู่นาน 6 ปี ก่อนจะกลับมาเรียนต่อจนจบ เป็นกุมารแพทย์และนักเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุข เชี่ยวชาญด้านการรักษาเด็กที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจจากความรุนแรงทางการเมือง ต่อมาเธอก็เข้าสู่วงการการเมือง ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีสาธารณสุขและกลาโหม ก่อนจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของชิลีในปี 2006 – 2010 จากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women ก่อนจะได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นกว่าร้อยละ 62 ให้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งช่วงปี 2014 และพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

เคนเน็ธ รอธ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ว่า บาเชเลต์เคยเป็นเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก่อน เธอจะมีมุมมองที่แปลกใหม่ให้กับบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขัน คนทั่วโลกจะได้พึ่งพาเธอในฐานะนักต่อสู้ที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะ เมื่อผู้ละเมิดสิทธิเป็นผู้มีอำนาจ

ทั้งนี้ บาเชเลต์ จะเข้ามาเป็นประธาน UNHRC ในช่วงที่ยากลำบากและมีความขัดแย้งระหว่างประเทศมากมาย ขณะเดียวกับรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับยูเอ็นมากขึ้นในด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เพิ่งประกาศจะถอนตัวออกจาก UNHRC โดยกล่าวหาว่า UNHRC เป็นพวกสองหน้า และไม่พอใจที่องค์กรดังกล่าวมีอคติกับอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตร และวิจารณ์การละเมิดสิทธิชาวปาเลสไตน์บ่อยครั้ง

ไม่นานหลังจากที่นายอัล-ฮุสเซน วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ ที่แยกเด็กผู้อพยพออกจากครอบครัว เพื่อแก้ไขปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย นิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นได้ออกมาตอบโต้อย่างดุเดือดว่า UNHRC วิจารณ์โดยไม่รู้จริงเกี่ยวกับสถานการณ์และยังกล่าวหาว่าเป็นพวกเสแสร้งอีกด้วย

หลังกูแตร์รีชเสนอชื่อบาเชเลต์เป็นประธาน UNHRC เฮลีย์แสดงความเห็นว่า ความล้มเหลวของ UNHRC ทำให้การเลือกประธาน UNHRC คนใหม่สำคัญยิ่งขึ้น จึงเป็นความรับผิดชอบของบาเชเลต์ ซึ่งเป็นตัวเลือกของเลขาธิการยูเอ็น ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้องค์กรล้มเหลวอย่างที่ผ่านมา

ที่มา : The New York Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :