ไม่พบผลการค้นหา
ทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น โจมตีว่ากลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนขัดขวางการปฏิรูปคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) หลังสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิก UNHRC โดยอ้างว่าองค์กรมีอคติต่ออิสราเอล

นางนิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ส่งจดหมายโจมตีสหภาพมนุษยนิยมและจริยธรรมระหว่างเทศหรือ International Humanist and Ethical Union (IHEU) ซึ่งมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกเข้าร่วม 162 กลุ่ม โดยมีสำนักงานใหญ่ในประเทศเนเธอร์แลนด์

ในจดหมายฉบับดังกล่าว นางเฮลีย์โจมตีกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนว่า พยายามขัดขวางการปฏิรูป UNHRC ของสหรัฐฯ และไปเข้าข้างรัสเซียกับจีน อีกทั้งยังทำงานต่อต้านสหรัฐฯ

นอกจากนี้ นางเฮลีย์กล่าวว่า ความพยายามในการขัดขวางการเจรจาและการปฏิรูปของกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทางการสหรัฐฯ ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นสมาชิก UNHRC นอกเหนือจากเรื่องอคติที่ UNHRC มีต่ออิสราเอล ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยนางเฮลีย์ได้กล่าวว่า UNHRC เป็นองค์กรที่เสแสร้งและทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และพยายามคุกคามอิสราเอล

ด้านนายลูอิส ชาร์บงโน ผู้อำนวยการด้านสหประชาชาติของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า เป็นเรื่องผิดปกติที่จะกล่าวหาว่ากลุ่มนักสิทธิมนุษยชนกำลังต่อต้านการปฏิรูป และข้อกล่าวหาว่านักสิทธิมนุษยชนสนับสนุนรัสเซียและจีนก็เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระมาก นอกจากนี้ นายชาร์บงโนยังทวีตว่าสหรัฐฯ โจมตีและกล่าวหากลุ่ม NGO สำหรับความล้มเหลวของตัวเอง

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยประท้วง UNHRC ด้วยการไม่รับรองมติที่ประชุมเมื่อเดือน พ.ค.ที่สั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง กรณีกองทัพอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการปราบปรามผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมา และ UNHRC ยังผลักดันให้มีการรับรองปาเลสไตน์ในฐานะสมาชิกสังเกตการณ์ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม การถอนตัวจาก UNHRC ของสหรัฐฯ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะจอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยถอนตัวจากการเป็นสมาชิก UNHRC มาก่อน หลังจากที่สหรัฐฯ ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานหลังเหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐฯ 9/11 เมื่อปี 2544 จนกระทั่งบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต นำสหรัฐฯ กลับเข้าสู่การเป็นสมาชิก UNHRC อีกครั้งเมื่อปี 2552

ที่มา: BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: