ไม่พบผลการค้นหา
ระบบเครือข่ายที่ทรงพลังที่สุดในยุครัฐบาลคสช.เมื่อประชารัฐคือระบอบที่ค้ำยันให้คสช.ไปต่อได้

แม้ว่ากรมสรรพากรจะออกมาปฏิเสธว่ามาตรการสนับสนุนการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐว่าเป็นมาตรการที่ยกเว้นภาษีให้แก่บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เพื่อเป็นการช่วยเหลือต่างตอบแทน แต่สิ่งที่ทำให้เราเห็นอย่างแท้จริงก็คือเครือข่ายอำนาจที่ค้ำยันรัฐบาลของคสช.

"ประชารัฐ" คือไอเดียทางเศรษฐกิจที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจริเริ่มในการดึงภาคเอกชนและประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมกับการบริหารนโยบายภาครัฐ แต่แท้ที่จริงมีอะไรที่ลึกลับกว่านั้นหรือไม่?

ประชารัฐไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยิ่งเหลื่อมล้ำ

ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าโดยปกติรัฐกับทุนไม่ได้แยกขาดจากกัน เพียงแต่มีรูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไป โดยปกติจะมีประชาชนที่เป็นฐานเสียงมาเป็นตัวกลางให้รัฐจัดสรรผลประโยชน์ไม่ให้เอื้อกลุ่มทุนมากไป


เดชรัต สุขกำเนิด.jpg


เดชรัตชี้ว่าเมื่อเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชนกลไกตรงนี้จึงหายไปรัฐบาลคสช.อาจจะฟังเพียงประชาชนบางส่วนที่เป็นฐานอำนาจของพวกเขา เมื่อทุนมาผนวกกับรัฐเกิดเป็น "แบรนด์ประชารัฐ" ที่เข้มแข็งไม่ใช่เป็นเพียงกลุ่มแนวคิดที่เปิดกว้าง

"แบรนด์ประชารัฐ"ที่มีปัญหาสำหรับเดชรัตก็คือ เป็นกลุ่มปิดที่รัฐเลือกกลุ่มทุนเพียงบางกลุ่มเข้ามามีอำนาจบริหารนโยบายร่วมกัน เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งเพราะไม่เปิดกว้างให้ทุกทุนเข้าถึงโอกาสเท่าเทียมกัน เพราะถ้าเป็น "แนวคิด"ทุกกลุ่มจะสามารถเข้าถึงได้ แต่พอเป็น "แบรนด์" รัฐกลายเป็นผู้กำหนดทั้งหมด

ประเด็นการลดหย่อนภาษีให้กับกลุ่มประชารัฐ เดชรัตอธิบายว่าไม่ใช่เรื่องใหม่รัฐบาลก่อนหน้านี้มีการผลักดันพ.ร.บ.กิจการเพื่อสังคมเพื่อให้ทุนที่ทำเพื่อสังคมสามารถลดหย่อนภาษีได้ แต่รัฐบาลคสช.กลับไม่ใช้กลไกทางกฎหมายที่ค้างอยู่ในสภา แต่กลับไปเลือกว่าเฉพาะกลุ่ม "แบรนด์ประชารัฐ"เท่านั้นที่จะได้รับสิทธิพิเศษตรงนี้

การเข้ามาร่วมของกลุ่มทุนกับรัฐบาลคสช.รอบนี้ต่างจากสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะจะบริหารผ่านกลไกประธานสภาธุรกิจการค้าต่างๆ เดชรัตชี้ว่านี่อาจเป็นครั้งแรกๆที่กลุ่มทุนเปิดหน้าเล่นการเมืองว่าอยู่ฝั่งดีกับรัฐบาลคสช.

ถามว่าการเปิดตัวหนุนคสช.จะส่งผลดีหรือไม่ ก็ต้องแลกเปลี่ยนกันจะเห็นว่าหลายครั้งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถใช้กลไกนอกกฎหมายในการเอื้อกลุ่มทุนประชารัฐได้ ส่วนรัฐบาลก็เหมือนมีแนวร่วมในทางการเมือง เหมือนเป็นฐานอำนาจของคสช. แต่ก็ต้องดูว่าถ้าการเมืองเปลี่ยนขั้วอำนาจ กลุ่มเหล่านี้จะถูกมองในฐานะผู้สนับสนุนคสช.มาก่อนหรือไม่?

ท้ายที่สุดแล้วเดชรัตมองว่าการที่คสช.เคยอ้างการเข้ามารัฐประหารเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น ไม่เป็นจริงเพราะการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นแบรนด์ประชารัฐจะกลายเป็นการสร้างความเหลืื่อมล้ำมากขึ้นเสียมากกว่า