นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคข้อสะโพกเสื่อมจัดเป็นข้ออักเสบรูปแบบหนึ่ง พบได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวและพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความผิดปกติข้อสะโพกแต่กำเนิด ข้อสะโพกเสื่อมตามวัย การรับประทานยาบางชนิดโดยเฉพาะยาแก้ปวด โรคติดเชื้อบางอย่าง น้ำหนักตัวมาก อุบัติเหตุ รวมถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดรอบๆข้อสะโพก ปวดช่วงขาหนีบ รู้สึกข้อสะโพกขัดในตอนเช้าหลังจากตื่นนอน มีเสียงภายในข้อสะโพก ข้อสะโพกติดขัด อาจเป็น 5 สัญญาณเตือนที่ไม่ควรนิ่งนอนใจควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
อย่างไรก็ตามควรถนอมข้อสะโพกโดยใช้งานอย่างถนอมและถูกวิธี หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อสะโพกโดยไม่ยกของหนัก ตลอดจนไม่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายที่ใช้งานข้อสะโพกอย่างรุนแรง
นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมแบ่งเป็น การรักษาโดยไม่ผ่าตัด ด้วยวิธีพักการใช้งานข้อสะโพก ทำกายภาพตามโปรแกรมแบบเบาๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของข้อสะโพก ทานยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่มีสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวด
สำหรับในรายที่มีน้ำหนักตัวมากควรลดน้ำหนัก และการรักษาโดยการผ่าตัด หากข้อสะโพกเสื่อมมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มเจ็บข้อสะโพกแม้พักอยู่เฉยๆในตอนกลางคืน หรือข้อสะโพกผิดรูปอย่างมาก แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมบริเวณที่เป็นหัวและเบ้าแทนข้อสะโพกเดิม ซึ่งจะรักษาความเจ็บปวดและช่วยพัฒนาการเดิน
ทั้งนี้ ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยควรทำกายภาพบำบัด เนื่องจากเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูการทำงานของข้อสะโพกและกล้ามเนื้อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ