นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงใช้โอกาสนี้ขอให้ผู้ใช้แรงงานดูแลสุขภาพตนเองและระวังโรคซึ่งเกิดจากการสัมผัสสิ่งคุกคามในที่ทำงาน เช่น โรคปอดอักเสบในคนที่แข็งแรงดี โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อไปพบแพทย์อาจนึกไม่ถึงว่าจะเป็นโรคจากการทำงานทำให้การวินิจฉัยพลาดไป รักษาโรคแต่ไม่ได้รักษาที่สาเหตุทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ โรคจากการทำงานสามารถป้องกันได้ ผู้ใช้แรงงานรักษาสุขภาพให้แข็งแรง งดเหล้า บุหรี่ ลดความเครียด ใช้อุปกรณ์ในการป้องกันตนเองจากสารเคมี และเสียงดัง ยกของอย่างถูกวิธี และไม่ทำงานหนักจนเกินไป เป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากการทำงาน
ด้าน นพ. สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยงานอาชีวเวชศาสตร์ ได้สรุปจำนวนโรคจากการทำงานที่มีความเสี่ยงต่อผู้ใช้แรงงาน ดังนี้ โรคที่เกิดจากยากำจัดศัตรูพืช 8,689 คน โรคกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงาน 81,226 คน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด โรคที่เกิดจากพิษโลหะหนัก 39 คน โรคปอดฝุ่นหิน 236 คน โรคปอดจากแร่ใยหิน 166 คน โรคจากสารทำละลายอินทรีย์ 673 คน โรคหูตึงจากเสียงดัง 60,946 คน
สำหรับหลักการป้องกันตนเองอย่างถูกวิธีคือ
1. การรู้สาเหตุของการเกิดโรค ได้แก่ คนงานและผู้อาศัยใกล้เคียงโรงงานโม่หินที่มีฝุ่นหินทรายฟุ้งกระจาย เป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นซิลิกา จะป้องกันได้ต้องกำจัดฝุ่นหิน ไม่ให้คนไปสัมผัส และปรับปรุงสิ่งแวดล้อม
2.การรู้การกระจายของโรค เพื่อให้ทราบกลุ่มบุคคล พื้นที่ และเวลาในการเกิดโรค ทำให้กำหนดกลุ่มที่เป็นปัญหาสาธารณสุข
3. การรู้ธรรมชาติของการเกิดโรค เนื่องจากโรคแต่ละโรค จะมีการดำเนินของโรคที่ต่างกันออกไป ซึ่งมีผลต่อการกำหนดวิธีการป้องกันที่เหมาะสม
ที่สำคัญสถานประกอบการควรให้ความสำคัญในการตรวจสุขภาพประจำปีของผู้ใช้แรงงาน และหากมีปัญหาควรพบแพทย์ เป็นระยะๆ โดยตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยที่สัมผัส เพื่อจะสามารถสืบค้นปัญหาสุขภาพได้ตั้งแต่ระยะแรกของโรค และตรวจทางอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
Photo by jesse orrico on Unsplash