คณะนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ (NIESH) เผยแพร่งานวิจัยผลกระทบของน้ำมันหอมระเหยต่อเด็กชายวัยเจริญพันธุ์ต่อที่ประชุมการแพทย์ว่าด้วย 'ต่อมไร้ท่อ' ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา วันนี้ (19 มี.ค.) โดยผลวิจัยบ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อในร่างกาย
ทั้งนี้ สารเคมีที่อยู่ในน้ำมันหอมระเหยกระตุ้นให้เกิดฮอร์โมนเอสโตรเจน หากกระบวนการนี้เกิดขึ้นในเด็กผู้ชายจะทำให้มีอาการ 'เต้านมโต'
เว็บไซต์ นิวไซเอนทิสต์ รายงานอ้างอิงผลวิจัยของ NIESH ระบุว่าคณะนักวิจัยเริ่มสุ่มตัวอย่างและทดสอบผลการทำงานของน้ำมันหอมระเหยสกัดจากลาเวนเดอร์และทีทรี หลังมีรายงานในปี 2550 พบเด็กผู้ชายในช่วงก่อนวัยรุ่นมีอาการเต้านมโต โดยส่วนใหญ่เป็นผู้อาศัยอยู่ในชุมชนฮิสปานิก ซึ่งนิยมใช้โคโลญกลิ่นลาเวนเดอร์ในชีวิตประจำวัน
ส่วนสาเหตุที่เลือกทดสอบน้ำมันหอมสกัดจากพืชทั้งสองประเภท เพราะเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ถูกนำไปเป็นส่วนผสมในของใช้ในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก ทั้งสบู่ โลชั่น แชมพู น้ำยาดับกลิ่น ฯลฯ
กระบวนการวิจัยเริ่มจากการนำสารเคมี 8 ชนิด ที่พบในน้ำมันหอมระเหยทั้งสองประเภทไปทดสอบกับเซลล์มะเร็งในห้องทดลอง พบว่า 7 ใน 8 ของสารเคมีที่ทดลอง มีผลกระตุ้นให้เกิดฮอร์โมนเอสโตรเจนจริง ซึ่งนักวิจัยระบุว่าถ้าเด็กผู้หญิงตอบสนองกับสารเคมีในน้ำมันหอมระเหยและมีอาการเต้านมโต อาจทำให้ถูกวินิจฉัยผิดพลาดได้ว่ามีพัฒนาการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าปกติ
ขณะที่ 'เจ ไทเลอร์ แรมซีย์' หัวหน้าคณะนักวิจัยของ NIESH เปิดเผยกับสำนักข่าว บีบีซี เพิ่มเติมว่า สังคมยุคใหม่มีความเข้าใจว่าน้ำมันหอมระเหยนั้นปลอดภัย เพราะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ แต่ผลวิจัยบ่งชี้ว่าการใช้น้ำมันหอมเหล่านี้อาจมีผลในทางตรงกันข้ามต่อร่างกาย จึงควรจะมีคำเตือนหรือรายละเอียดบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงผลสืบเนื่องจากการสัมผัสสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด
"อาการเต้านมโตจะค่อยๆ หายไปหลังจากเด็กผู้ชายเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ผสมน้ำมันหอมระเหย" แรมซีย์ หัวหน้าคณะวิจัย NIESH กล่าว
ส่วนข้อควรระวังอื่นๆ ได้แก่ ไม่ควรให้น้ำมันหอมระเหยเข้มข้นสัมผัสกับผิวโดยตรง สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้งานน้ำมันหอมระเหย และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยกับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี
อ่านเพิ่มเติม: