ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ เผย ดวงจันทร์ 'เล็กลง' หลายสิบเมตรเพราะ 'หินหนืด' ชั้นในเย็นลง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ (moon quake) และรอยเลื่อนเปลือกนอกหดตัว เปรียบได้กับลูกองุ่นที่เนื้อในแห้งลงจนกลายเป็น 'ลูกเกด'

คณะนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ธรณีวิทยาและดาวเคราะห์ศึกษาแห่งพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานสำรวจแรงสั่นสะเทือนบนดวงจันทร์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากเครื่องวัดซ่ึงถูกนำไปติดตั้งโดยยานอพอลโลขององค์การอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ซึ่งปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ในอดีต

ผลสำรวจข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบนดวงจันทร์ หรือ moon quake ประมาณ 28 ครั้ง ระหว่าง ค.ศ. 1969-1977 โดยแรงสั่นสะเทือนมีขนาดตั้งแต่ 2 จนถึง 5 ตามมาตรวัดแบบริกเตอร์ แม้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใต้ผิวดวงจันทร์ไม่ลึกนัก แต่ก็ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบนผิวดวงจันทร์ ทำให้เกิดรอยเลื่อนต่างๆ ที่มีความยาวและความชันแตกต่างกันไปในรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตรบนผิวดวงจันทร์ที่ยานอวกาศเคยลงจอด และกลายเป็นพื้นที่เก็บตัวอย่างและสำรวจข้อมูลของนาซาและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ของนาซา ยังระบุด้วยว่า แรงสั่นสะเทือนและรอยเลื่อนผิวดวงจันทร์ เกิดจากหินหนืดใต้ผิวดวงจันทร์เย็นลงอย่างต่อเนื่องช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา ทำให้ดวงจันทร์หดตัวเล็กลงจากเดิมประมาณ 50 เมตร ส่วนคณะนักวิทยาศาสตร์ที่จัดทำรายงานได้เปรียบเทียบปรากฎการณ์ที่ดวงจันทร์หดตัวกับ 'ลูกองุ่น' ที่เนื้อในเหี่ยวแห้งลงจนกลายเป็น 'ลูกเกด' ในที่สุด

นาซา ระบุด้วยว่า ดวงจันทร์ไม่ใช่ดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยจักรวาลที่มีขนาดเล็กลงเมื่อผ่านกาลเวลายาวนาน ดาวพุธก็เป็นอีกดาวหนึ่งที่เกิดปรากฏการณ์เดียวกันนี้ขึ้น โดยกรณีของดาวพุธ เกิดรอยเลื่อนบนผิวดาวโดยมีความชันสูงสุดถึงประมาณ 3 กิโลเมตร และยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร

นอกจากนี้ นาซายังตั้งเป้าด้วยว่า ภายในปี 2024 จะต้องบรรลุภารกิจส่งนักบินอวกาศหญิงคนแรกไปยังดวงจันทร์ พร้อมกับนักบินอวกาศชาย โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชุดดังกล่าวจะอาศัยระบบเกตเวย์รอบวงโคจรเพื่อแตะดวงจันทร์ในฝั่งเซาท์โพล หลังจากนั้นจึงจะพัฒนาภารกิจระยะยาวภายในปี 2028 เพื่อเรียนรู้และเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับดวงจันทร์เพิ่มเติม ก่อนจะมุ่งหน้าไปปฏิบัติภารกิจยังดาวอังคารเป็นอันดับต่อไป

ที่มา: NASA/ Time

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: