ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายสื่อในเอเชียระบุ สถานการณ์สื่อสารมวลชนในภูมิภาคนี้ 'ถดถอย' เพราะรัฐบาลอำนาจนิยมปกครองหลายประเทศ แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในไทย อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ อาจจะเปลี่ยนทิศทางไปสู่ประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น

เอเชียนิวส์เน็ตเวิร์ก หรือ ANN เครือข่ายองค์กรด้านสื่อสารมวลชน 22 แห่งใน 20 ประเทศแถบเอเชีย เผยแพร่บทความ Press freedom is deteriorating in Asia, elections may offer a reset button ซึ่งระบุว่าสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในหลายประเทศแถบเอเชียนั้น 'ถดถอย' อย่างต่อเนื่อง โดยยกตัวอย่างกรณี 'มาเรีย เรสซา' บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ Rappler สื่อออนไลน์ในฟิลิปปินส์ ถูกจับกุมและฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาททางไซเบอร์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ก่อนจะได้รับประกันตัวเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา 

ผู้ฟ้องร้องแรพเลอร์เป็นเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งถูกพาดพิงในการรายงานข่าวเมื่อปี 2555 ซึ่งระบุว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดและฟอกเงิน โดยเป็นการอ้างอิงรายงานด้านความมั่นคงซึ่งไม่ได้ระบุชื่อ และเรสซาถูกจับกุมในฐานะบรรณาธิการบริหาร ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 แต่กรณีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีการออกหมายแจ้งเตือนล่วงหน้า เพราะเจ้าหน้าที่ได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายไซเบอร์ของฟิลิปปินส์ ซึ่งมีผลบังคับใช้หลังจากที่รายงานข่าวดังกล่าวตีพิมพ์ไปแล้ว

กรณีที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ถูกประณามว่าอาศัยอำนาจตามกฎหมายไซเบอร์เอาผิดและปิดปากสื่อมวลชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล เนื่องจากทีผ่่านมา เรสซาเป็นผู้หนึ่งที่เผยแพร่บทความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหลายประการของนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน โดยเฉพาะการรายงานผลกระทบที่เกิดจากการทำสงครามปราบปรามยาเสพติดของดูแตร์เต ซึ่งมีผลให้ประชาชนจำนวนมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 'ยัดข้อหา' และมีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดเป็นจำนวนหลายพันคน แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะควรต้องให้โอกาสผู้ต้องสงสัยในการแก้ต่างตามกระบวนการทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีดูแตร์เตยืนยันว่า ตนไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องเรสซา และย้ำว่าไม่รู้จักกับเศรษฐีที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องร้องแรพเลอร์ แต่ก่อนหน้านี้ ดูแตร์เตเคยเรียกแรพเลอร์ว่าเป็น 'สื่อเต้าข่าว' แต่ไม่อาจระบุได้ว่าการรายงานข้อมูลใดที่เป็นเท็จ ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนโครงสร้างเจ้าของและผู้ก่อตั้งแรพเลอร์ หลังมีข้อกล่าวหาว่าสื่อดังกล่าวมีชาวต่างชาติที่เกี่ยวพันกับหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง ทั้งยังมีการตั้งข้อกล่าวหาว่าแรพเลอร์เลี่ยงภาษี แต่เรสซาและผู้เกี่ยวข้องยืนยันพร้อมสู้คดีดังกล่าว

ANN ระบุเพิ่มเติมว่า กรณีของฟิลิปปินส์ไม่ใช่การฟ้องร้องสื่อมวลชนครั้งแรกในเอเชีย เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลที่มีแนวคิดอำนาจนิยมในเวียดนามและไทย ได้ใช้กฎหมายเกี่ยวกับไซเบอร์ในการจับกุมและดำเนินคดีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก

โดยบล็อกเกอร์หลายรายในเวียดนามถูกจับกุมหลังต้ังคำถามถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในประเทศ ส่วนไทยมีการจับกุมผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ และผู้สื่อข่าวหลายรายถูกเรียกไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทหาร หลังเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา ทั้งยังรวมถึงกรณีบล็อกเกอร์และผู้สื่อข่าวของมาเลเซียถูกฟ้องร้องจากการรายงานข่าวการทุจริตในกองทุน 1เอ็มดีบี ของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ซึ่งกระแสความเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังเกิดขึ้นและดำเนินอยู่จนปัจจุบัน

บทความของ ANN สรุปว่า บรรยากาศกดดันสื่อมวลชนและการปราบปรามหรือปิดปากผู้เห็นต่างจากรัฐบาลในแถบเอเชียอาจจะเปลี่ยนไปได้ ถ้าหากมีการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพราะอาจจะทำให้เกิดการ 'รีเซ็ต' หรือเริ่มต้นใหม่ได้ โดยยกตัวอย่างกรณีมาเลเซีย ซึ่งนายกฯ นาจิบ พ่ายแพ้การเลือกตั้ง และมหาเธร์ โมฮัมหมัด แกนนำวิพากษ์วิจารณ์นาจิบ ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ประเทศในแถบเอเชียที่จะมีการจัดเลือกตั้งภายในปีนี้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ คาดว่าจะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: