ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลทหารของอียิปต์และไทยถูกสื่อสายไอทีในสหรัฐฯ เปรียบเทียบความคล้ายคลึงด้านการใช้อำนาจทางกฎหมายจับกุม-ดำเนินคดีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยใช้ข้อกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือล่วงละเมิดสถาบันหลักของประเทศ

เว็บไซต์เทคครันช์ ���ื่อด้านธุรกิจไอทีของสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กมากกว่า 2.8 ล้านคนทั่วโลก เผยแพร่รายงานสถานการณ์ด้านสื่อสังคมออนไลน์และสิทธิในการเข้าถึงหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ในประเทศอียิปต์กับไทย โดยเปรียบเทียบว่าทั้งสองประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายด้านคอมพิวเตอร์คล้ายคลึงกัน แต่ส่งผลให้มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ทั้งสองประเทศถูกรัฐประหารยึดอำนาจ

ไซอัด เรสลัน ผู้เขียนบทความของเทคครันช์ ยกตัวอย่างคดีบุคคลสำคัญถูกจับกุมและดำเนินคดีข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จในสื่อออนไลน์ โดยกรณีของอียิปต์ ได้แก่ 'วาเอล อับบาส' นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกคุมขังตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเขาเผยแพร่วิดีโอและข้อความระบุว่าตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ส่วนกรณีของประเทศไทย มีการยกตัวอย่างคดี 'อานดี้ ฮอลล์' นักวิจัยด้านสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ ซึ่งถูกโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องในไทยฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและเผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านสื่อออนไลน์

บทความดังกล่าวใช้ชื่อว่า Egypt and Thailand: When the military turns against free speech เปรียบเทียบว่าอียิปต์และไทยเป็นสองประเทศที่ถูกกองทัพก่อรัฐประหารในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และหลังจากนั้นสถิติผู้ถูกจับกุม-ดำเนินคดีสืบเนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลต่อต้านรัฐบาลทหารผ่านสื่อสังคมออนไลน์กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่อียิปต์มีการจับกุมนักกิจกรรมและผู้วิพากษ์วิจารณ์กองทัพ รวมถึงรัฐบาลทหาร อย่างน้อย 240 คน ส่วนประเทศไทย มีการจับกุมทั้งนักกิจกรรมและบุคคลธรรมดา รวม 105 คน จากการโพสต์ข้อความหรือสนทนาผ่านสื่อออนไลน์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและสถาบันหลักของประเทศ

Freedom House-เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต 2016

ซานยา เคลลี ผู้จัดทำรายงานด้านเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของ 'ฟรีดอมเฮาส์' องค์กรเครือข่ายระหว่างประเทศที่ส่งเสริมด้านสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เปิดเผยว่า รายงานสถานการณ์ล่าสุดที่จัดทำขึ้นจากข้อมูลในปี 2559 บ่งชี้ว่าอียิปต์และไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศ 'ไม่เสรี' ด้านสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่เปรียบเทียบข้อมูลใน 65 ประเทศทั่วโลกซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของฟรีดอมเฮาส์

เคลลีระบุว่า กรณีของไทยนั้น ติดอยู่ในกลุ่มไม่เสรีมา 7 ปีแล้ว ขณะที่อียิปต์ตกอันดับจากกลุ่มประเทศ 'มีเสรีภาพในบางด้าน' มาอยู่ในกลุ่ม 'ไม่เสรี' หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2556 เป็นต้นมา

ก่อนหน้านี้ไม่นาน เว็บไซต์ Global Compliance News ซึ่งเป็นสื่อด้านการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ยังได้สรุปเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ร.บ.ความมั่นคงทางไซเบอร์) เพื่อเป็นข้อมูลแก่บริษัทต่างชาติได้ศึกษาผลกระทบและความเป็นไปได้ที่จะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยพาดพิงถึงเนื้อหาบางส่วนที่มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลได้ในกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งแม้จะไม่เป็นข้อบังคับ แต่ก็จะเอื้อประโยชน์ให้การตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลและอาจนำไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ในกรณีที่เกิดคดีความหรือข้อขัดแย้งบางประการ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิชาการและองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตของไทยได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยระบุว่าเนื้อหาในบางมาตราจะส่งผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ทำให้หน่วยงานรัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องสามารถสอดแนมข้อมูลได้ไม่จำกัด ซึ่งขัดต่อหลักการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ตามหลักสากล และล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าจะสั่งให้มีการทบทวนพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: