ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 10.00 น. ที่สน.ปทุมวัน “ป๊อกกี้” ภวัต หิรัณย์ภณ เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกิจกรรม #ใครๆ ก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน โดยภวัตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 25 ก.พ. 2564
มูลเหตุของคดีนี้มาจากกิจกรรม #ใครๆ ก็ใส่ครอปท็อป หรือ #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ในกิจกรรมนี้ พริษฐ์ ชิวารักษ์ -เพนกวิน , ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล - รุ้ง, ภาณุพงศ์ จาดนอก - ไมค์ และสมาชิกคนอื่นๆ ใส่เสื้อครอปท็อปเดินบริเวณห้างสยามพารากอนและทางเชื่อมระหว่างห้างสยามเซ็นเตอร์และห้างพารากอน ผู้แจ้งความร้องทุกข์คือ ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี ซึ่งเคยแจ้งความข้อหามาตรา 112 อานนท์ นำภา จากการโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์หรือ #ราษฎรสาสน์ ในเฟซบุ๊ก
คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 7 คน โดยเดินทางรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 6 คน เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 โดยมีเยาวชนจำนวน 2 รายถูกดำเนินคดีนี้ด้วย ส่วนภวัตเพิ่งได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุให้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้
เวลา 10.30 น. พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ปทุมวัน บรรยายพฤติการณ์คดีในลักษะเดียวกันกับผู้ต้องหาคนอื่น โดยระบุว่าขณะผู้ต้องหาคนอื่นกำลังทำกิจกรรมตั้งแต่ในลานพาร์คพารากอนและหน้าร้าน Sirivannavari ภวัตได้เดินกับกลุ่มผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุ พูดว่า “ทรงพระเจริญๆ” พร้อมกับทําท่าย่อไหว้และมอบดอกไม้ ให้กับเพนกวินและรุ้ง ซึ่งสวมเสื้อครอปท็อปอยู่ อันถือว่ามีลักษณะเป็นการแสดงว่าตนเองเป็นประชาชนที่มาร่วมชมพระบารมีและถวายพระพร เพื่อร่วมแสดงล้อเลียนให้เห็นว่าเป็นการเข้าเฝ้ารับเสด็จพระราชดําเนินของกษัตริย์รัชกาลที่ 10
พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหามาตรา 112 โดยภวัตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 25 ก.พ. 2564 ด้านพนักงานสอบสวนนัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 1 มี.ค. 2564 ทั้งนี้ ภวัตไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา แต่ลงข้อความว่า “ขอให้มีความเป็นคน” แทน
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา ภวัตลงบันทึกประจำวันเพื่อแจ้งความร้องทุกข์กรณี ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ว่าการแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 นี้ถือเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เนื่องจากผู้แจ้งความร้องทุกข์ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ แต่กลับมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับตน ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง สูญเสียรายได้ ได้รับความเสียหาย
ด้านทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ว่า การที่ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ถือเป็นจุดที่ทำให้กฎหมายมาตรา 112 นี้มีปัญหา เปิดช่องให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์กับใครก็ได้ ถือเป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ต้องหา
ส่วนภวัตให้สัมภาษณ์ว่า ตนเป็นประชาชนทั่วไปที่มาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหลังเห็นความไม่เป็นธรรมในประเทศ ตั้งแต่การดำเนินคดีข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ “ไมค์” ภาณุพงศ์ และณัฐชนน พยัฆพันธ์ จากการชูป้ายทวงถามนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดระยองเมื่อปีที่แล้ว
ภวัตเล่าว่าไม่เคยคิดว่าจะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาก่อน เพราะตนก็เป็นประชาชนทั่วไป ไม่ใช่แกนนำ เมื่อถามถึงความเห็นของการใช้มาตรา 112 ในปัจจุบัน ภวัตให้ความเห็นว่ากฎหมายนี้เป็น “กฎหมายฆาตกร” อยากให้ยกเลิกมาตรานี้ เพราะการดำเนินคดีนี้สร้างความเสียหายให้กับผู้ถูกดำเนินคดีเป็นอย่างมาก
ศูนย์ทนายความฯ เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 58 รายใน 44 คดี โดยในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 23 คดี และคดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 3 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา เห็นได้ว่า เกือบครึ่งหนึ่งของคดีมาตรา 112 ในปีที่ผ่านมาเกิดจากการร้องทุกข์ของประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่ใช่ผู่เสียหาย ชี้ให้เห็นว่าการเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีจำนวนมากกับใครก็ได้ ซึ่งนำมาสู่ภาระทางคดีกับตัวผู้ต้องหาที่ต้องสู้คดีต่อไป