ไม่พบผลการค้นหา
'เดชา ศิริภัทร' แถลงข่าวกรณีจับกุมกัญชา ยืนยันจุดยืนต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน วอนทุกฝ่ายร่วมมือกัน พร้อมเสนอให้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติด ด้านเลขาฯป.ป.ส. แจงการดำเนินคดีเป็นไปตามกระบวนการ

จากกรณีการจับกุมกัญชา เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีของกลางเป็นต้นกัญชากว่า200ต้น น้ำมันกัญชา20ลิตร กัญชาบดผง 500 กรัม และเมล็ดกัญชา 1.8 กิโลกรัม พร้อมจับกุมนายพรชัย ชูเลิศ เจ้าหน้าที่มูลนิธิขวัญข้าว ในข้อหาผลิตและครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาต

เดชา ปปส.


ในวันนี้ (11เม.ย.) นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ และทีมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) พร้อมแถลงข่าว เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ โดยมี ตัวแทน 3 มูลนิธิ อาทิ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี ที่ร่วมกันเปิดระดมทุนเพื่อใช้ประกันตัวนายพรชัย ล่าสุดมีผู้สนับสนุนกว่า 1.2 ล้านบาท และนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการป.ป.ส. ร่วมแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย

โดยนายเดชา เปิดเผยว่าหลังจากได้พูดคุยกันทางเลขาฯป.ป.ส.ก็เข้าใจเจตนารมณ์ของตนว่าต้องการรักษาผู้ป่วย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการตีความคนละความหมาย ทั้งนี้เมื่อเกิดเรื่องไปแล้วเราก็ต้องมาร่วมกันแก้ไข ส่วนตัวเห็นว่ากัญชาควรถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดในกฎระเบียบ

เดชา ปปส.


ดังนั้นยืนยันว่าทางเราจะเดินหน้า เพื่อนำไปสู่การแก้กฎหมายต่อไป โดยส่วนตัวมองว่าต้องเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เพราะถ้าไม่เอาจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากอีกทั้งมองว่ารัฐบาลควรใช้มาตรา44 เพื่อลดระยะเวลา90วัน ในการนิรโทษกรรมกัญชาหรือไม่ ทั้งนี้ในส่วนของการแก้ปัญหา นายเดชาหวังว่าทุกฝ่ายจะเห็นประโยชน์ของชาติร่วมกัน เพื่อศึกษาหารือในการนำกัญชามาสกัดใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ 

ขณะเดียวกันนายเดชา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมของใต้ดินที่ถูกนำขึ้นมาจากบนดินกลับถูกดำเนินคดี เมื่อเปรียบเทียบกับของใต้ดินอย่างอื่น ทำให้มีการตั้งคำถามว่าเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติหรือไม่ โดยส่วนตัวเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นที่ทำการจับกุมครั้งนี้ หนุนหลังกลุ่มใต้ดินหรือไม่ จึงอยากให้ป.ป.ส.เข้าไปตรวจสอบ อย่างไรก็ดีทุกภาคส่วนต้องมาร่วมมือกัน อย่าให้เป็นภาระของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ตนได้กระทำคือต้องการให้เห็นว่ากัญชาก็มีประโยชน์ และภารกิจนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนส่วนใหญ่จะเอาด้วยหรือไม่

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ตัวแทนมูลนิธิชีววิถี ที่ร่วมพูดคุยกับทางเลขาฯป.ป.ส. ระบุว่า ในการพูดคุยกันนั้นเลขาฯป.ป.ส.ได้ให้ความมั่นใจในการให้ความเป็นธรรมต่อการดำเนินคดีกับนายพรชัย และจะประสานชี้แจงถึงเจตนารมณ์ของนายพรชัย อย่างไรก็ตามเห็นว่าในช่วงนิรโทษกรรมกัญชา ภาครัฐควรผ่อนปรนและคุ้มครอง

เดชา ปปส.


นอกจากนี้หลังจากผ่านช่วงนิรโทษกรรมกัญชา ทางสำนักงานอาหารและยา(อย.) ควรให้หลักประกันต่อการคุ้มครองผู้ใช้ รวมถึงการร่วมมือจากหน่วยงานในการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม

ทั้งนี้ในการดำเนินคดี ส่วนของนายเดชานั้น ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด ขณะที่การจับกุมนายพรชัยนั้น คือการตีความกันคนละแบบซึ่งตรงจุดนี้ต้องเร่งหาทางออกให้ดีที่สุด โดยเป้าหมายของเราคือต้องการให้นายพรชัยพ้นมลทิน

ขณะที่นางรสนา โตสิตระกูล ตัวแทนมูลนิธิสุขภาพไทย ระบุว่านายเดชาได้ร่วมกับมูลนิธิศึกษาในประเด็นการใช้สมุนไพรใช้ทางการแพทย์อยู่แล้ว ตั้งแต่ปี2551 อย่างไรก็ดีสิ่งที่อยากให้ชัดเจนคือ การดำเนินการยังสามารถทำต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทางมูลนิธิเองมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งจุฬาฯและม.รังสิต รวมถึงโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ ซึ่งการศึกษากัญชาทางการแพทย์นั้น อยากให้ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนทำงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการรับยา และมีหลักประกันด้านความปลอดภัยว่าจะไม่มีการติดตามผู้รับการรักษา ซึ่งหากทำได้จะถือเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

เดชา ปปส.


ส่วนเลขาธิการป.ป.ส. ระบุว่าได้ชี้แจงตามกระบวนการข้อกฎหมายและร่วมกันหาทางออกร่วมกันเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด โดยหลักการในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ แต่ละฝ่ายยังตีความกันคนละมุม ทางภาครัฐเองก็ดำเนินการตามกรอบกฎหมาย จึงจำเป็นต้องปล่อยให้กระบวนการดำเนินต่อไป อย่างไรก็ดีขอให้ประชาชนที่ต้องการครอบครองกัญชาต้องแจ้งอย.ก่อน ส่วนกรณีพื้นที่ต่างจังหวัด ก็ให้แจ้งสำนักสาธารณสุขจังหวัด เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการไม่ให้เกิดการจับกุมและข้อขัดแย้งอีก และตอนนี้ขอให้ทุกฝ่ายไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรรม 

อนึ่งในเกร็ดกฎหมายยาเสพติดของประเทศไทย นับตั้งแต่มีการแก้ไขในช่วงต้นปี2562ที่ผ่านมา ตามที่ระบุในพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับปรับปรุงแก้ไข ฉบับที่7 ได้มีการปลดล็อกกัญชาและกระท่อม ให้ใช้เพื่อทางการแพทย์ 

อย่างไรก็ดีสาระสำคัญที่ระบุในมาตรา22 มีเนื้อว่า "สำหรับผู้ใดที่มีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษ โดยจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ แต่ถ้ากรณีที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้กัญชานั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข หรือให้ทำลาย"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง