นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศไทม์ไลน์การรับรอง ส.ส. ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่เดิมคาดว่าจะประกาศ ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายกรอบตลอดเวลา 150 วัน นับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายการเลือกตั้ง แต่ก่อนได้ยินข่าวมาว่ากกต.จะประกาศ ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ชนะการเลือกตั้ง ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ และประกาศรับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ตนไม่ทราบ แต่ถือว่าการประกาศผลอย่างเป็นทางการนั้น ต้องยึดในวันที่ 8 พฤษภาคมเป็นหลัก
เพราะมองว่าการประกาศรายชื่อ ส.ส. แบบแบ่งเขตในวันที่ 7 อาจจะประกาศไม่ครบร้อยละ 95 ดังนั้นจะประกาศวันใดก็ถือว่ามีความหมายต่อพิธีเปิดประชุมสภานัดแรก เพราะต้องจัดประชุมนัดแรกให้ได้ภายใน 15 วันหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อส.ว.ภายใน3 วันหลังมีการรับรองผลการเลือกตั้ง ขณะที่การประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ตนไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นในวันใด เพราะขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาเป็นผู้กำหนด และไม่มีกรอบระยะเวลากำหนดไว้ หลังจากมีพิธีเปิดประชุมสภา นัดแรกจะต้องประชุมสภาผู้แทนราษฏรและประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือกประธานและรองประธานรัฐสภา และทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ ลงมา หลังจากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภาก็จะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะมีรัฐบาลชุดใหม่ในเดือนมิถุนายนนั้น หมายถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หลังจากได้นายกรัฐมนตรีแล้วนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เลือกพรรคการเมืองที่จะมาร่วมรัฐบาล และแต่งตั้งรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการทุกอย่างจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน และคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันรวมไปถึงคสช. จะสิ้นสุดการปฎิบัติหน้าที่ทันที รัฐบาลชุดใหม่จะยังทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะว่ายังไม่ได้แถลงนโยบาย ซึ่งจะต้องแถลงภายใน 15 วัน
ไม่ชัดยกเลิกสั่งคสช.กี่ฉบับ รับมีบางส่วนไม่สามารถยกเลิกได้
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่าประกาศคสช. ที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่จัดตั้งรัฐบาลคสช. หลังจากไม่ได้มีการออกประกาศเพิ่มเติมแต่อย่างใด ส่วนคำสั่งคสช. ที่ไม่ใช่คำสั่งในมาตรา 44 ต้องแยกกันระหว่างคำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ซึ่งคำสั่งคสช. ส่วนใหญ่เป็นประกาศเรียกให้มารายงานตัว แต่คำสั่งหัวหน้าคสช. คือการประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งรวมแล้วมีอยู่จำนวนมาก แต่มีสิ่งที่น่าสนใจว่ากว่าครึ่งได้ยกเลิกไปแล้วในตัว หรือมาประกาศฉบับใหม่เพื่อมายกเลิกประกาศเก่า แต่ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับ ซึ่งเกรงว่าจะเป็นภาระกับรัฐบาลชุดใหม่ เพราะหากรัฐบาลใหม่จะยกเลิกต้องออกพระราชบัญญัติ ในบางกรณีจะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน ก่อนนำเข้าที่ประชุมสภาซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก
ดังนั้น จึงคิดว่าควรจะทบทวนและยกเลิกก่อนรัฐบาลใหม่ ดังนั้นจึงจะต้องมีการออกประกาศหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ฉบับสุดท้าย เพื่อที่จะยกเลิกคำสั่งคสช. ทั้งหมดแต่ยังมีบางส่วนที่ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะบางกระทรวงยังจำเป็นต้องใช้ จึงไม่สามารถยกเลิกคำสั่งได้ ดังนั้นจึงออกเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ประทรวงออกมาเป็นกฎหมายฉบับปกติโดยเร็ว ยืนยันจะไม่ให้เป็นภาระรัฐบาลชุดใหม่
แนะหากปรากฎชื่อครม.ชุดนี้นั่งในส.ว. ต้องไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงคุณสมบัติของส.ว.ที่ คสช.สรรหา หากมีรายชื่อของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ว่า จะต้องทำให้มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามเท่านั้น ซึ่งอย่างน้อยต้องเคลียร์ตัวเองให้เสร็จก่อนทูลเกล้าทูลกระหม่อมรายชื่อส.ว. ส่วนจะมีรายชื่อของคณะรัฐมนตรีคนใดบ้างตนไม่ทราบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีบุคคลสำคัญจำนวนมากน่าจะมีรายชื่อเข้าไปอยู่ในส.ว. แต่จะมีรายชื่อของตนหรือไม่ ตนไม่ขอตอบ เพราะไม่ใช่คนสำคัญ ซึ่งหากรัฐมนตรีลาออกจะไม่ส่งผลกระทบกับสัดส่วนคณะรัฐมนตรี เนื่องจากคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องมีนายกรัฐมนตรี 1 คน และคณะรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คนซึ่งจะเป็นกี่คนก็ได้
ด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ส.ว. 250 คน ว่าตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและจำรายชื่อไม่ได้ ซึ่งจะมีรายชื่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้กี่คนหรือไม่นั้น พลเอกประวิตร ปฏิเสธ ที่ตอบสื่อมวลชนก่อนที่จะเดินขึ้นไปประชุมที่ตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล