ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ยืนยันนายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้ 8 ปี มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายน 61 ตามที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ บอกการชิงจัดตั้งรัฐบาลไม่มีผล เป็นเพียงจิตวิทยาสร้างการรับรู้ ให้ประชาชน เพราะของจริงต้องรอหลัง กกต.รับรอง อย่างเป็นทางการ ภายใน 9 พ.ค. และยังมีขั้นตอนอีกมาก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงเรื่องที่นักวิชาการ กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจะอยู่ไม่ครบวาระ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ให้อยู่ตำแหน่งได้ 8 ปี หรือ 2สมัย เพราะนับรวมกับการเป็นนายกรัฐมนตรี มาแล้ว 5 ปี ว่า ครม.รัฐธรรมนูญใหม่ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561 ที่มีผลบังคับไว้ ไม่ใช่นับย้อนหลังไป 5 ปี จึงถือว่าข้อถกเถียงนี้เป็นข้อยุติ  

ส่วนพรรคเพื่อไทย ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 7 พรรคการเมืองในวันนี้ (27 มี.ค.) นายวิษณุ เห็นว่า เป็นเรื่องของแต่ละพรรค หากมีความพร้อมจะช่วงชิง ยังไม่มีผลจริงจังในทางกฎหมาย แต่มีผลทางจิตวิทยา มีผลในการรับรู้ทางสังคมท่ามกลางความเงียบ แต่จะสิ้นสุดไม่ได้ เพราะต้องรอ กกต.รับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการ เพราะตอนนี้รับรองเพียงร้อยละ 95 อีกร้อยละ 5 คะแนนอาจมีความเปลี่ยนแปลง และจะยังมีการร้องเรียนกว่า 100 คดี ที่ต้องตรวจสอบ รวมถึงเรื่องใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม ซึ่งยังไม่แน่นอน 

"นักวิชาการพูดตรงกันว่าผลการเลือกตั้งยังไม่เป็นทางการแต่การประกาศการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อนก็แค่สร้างการรับรู้ พร้อมยกเหตุการณ์ในอดีตสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์. เป็นนายกรัฐมนตรี มีพรรคการเมืองรวบรวมเสียงข้างมากชิงจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคที่ได้อันดับ2 ก็ไปจับมือกับพรรคการเมืองอื่น แล้วกลายเป็นเสียงข้างมาก และจัดตั้งรัฐบาลโดยให้ พลเอกเปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากในขณะนั้นเป็นฝ่ายค้าน" นายวิษณุ กล่าว 

กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากยังไม่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎร ถือว่า ยังไม่มีความแน่นอนใดๆเพราะทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับการเจรจา ต่อรอง แต่ข่าวการจัดตั้งรัฐบาล สนุก ที่จะลุ้นไปแต่ละวัน เพราะคนไทยมีชีวิตอยู่กับการลุ้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้ออกมาปราม ว่าจะลุ้นก็ลุ้นไป แต่การจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เวลานี้รัฐบาลมุ่งเน้นในเรื่องของการเตรียมจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงวิธีการชิงตัดตั้งรัฐบาลที่จะล๊อกตัวผู้เสนอชื่อไว้กับพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เหมือนในอดีต เพราะมีการเสนอชื่อในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคแล้วเว้นมีปัญหา ที่จะเอานายกรัฐมนตรีคนนอก และยังชี้แจงขั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรีมาตรา272 ซึ่งการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี จะต้องมีผู้รับรอง โดยผู้ที่ถูกเสนอจะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 25 เสียง เป็น 26 เสียง และจะต้องมีผู้สนับสนุนญัตติเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 1 ใน 10 ของ 500 คน คือ 51 คน ขึ้นไป ก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ส่วนการจะมีรัฐบาลใหม่ ต้องให้มีการประกาศผลการเลือกตั้งรับรองอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 9 พ.ค. จากนั้นภายใน 3 วัน จะต้องมีการเสนอชื่อ ส.ว.นำขึ้นทูลเกล้า ซึ่งการประกาศจะมีขึ้นหลัง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ มาแล้ว และภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.จะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรก

โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงทำรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา หลังจากนั้นจะนัดประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฏร รอโปรดเกล้าประธานสภา จึงจะนัดประชุมสภาผู้แทนราษฏรเพื่อปฏิญาณตนก่อน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำได้สิ้นต้นเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนและรอโปรดเกล้าจึงจะมีการแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี

ขั้นตอนนี้ ไม่ได้กำหนดกรอบเวลา และหลังมีการโปรดเกล้าคณะรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรีจะนำเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน จึงจะทำงานได้ และทำให้รัฐบาล คสช.สิ้นสุดภายในวันเวลานั้น โดยรัฐบาลใหม่จะต้องไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน ดังนั้นขั้นตอนอีกมาก จึงขอให้ประชาชนติดตามและรู้เท่าทัน ขณะเดียวกันนายวิษณุ ปฎิเสธตอบคำถามว่าหากรัฐบาลใหม่ ทาบทามให้ทำงานต่อจะรับตำแหน่งหรือไม่ โดยบอกว่ามันน่าเกียจเพราะขณะนี้เขาชิงจัดตั้งรัฐบาล

อ่านข่าวเพิ่มเติม