นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย แถลงปฏิทินการทำงานของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้ง ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 9 พ.ค.2562 โดยวันที่ 11 ธ.ค.นี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ โดยกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน
ต่อมาวันที่ 16-27 ธันวาคม ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะคัดเลือก ส.ว.ทั่วประเทศ รวม 250 คน โดยเป็นโดยตำแหน่ง 6 คน (ปลัดกระทรวงกลาโหมพร้อมผู้นำเหล่าทัพ) คัดเลือกกันเอง 50 คน และส่วนที่คสช.คัดเลือก 194 คน และ คสช.จะตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา 9-12 คน จากนั้นจะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พร้อมทั้งปลดล็อกคำสั่งคสช. ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้
ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้ กกต.จะต้องออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครส.ส.แต่ละเขตภายใน 5 วัน และพรรคการเมืองจะต้องส่งรายชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ กกต. ภายใน 25 วัน หลังจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ประกาศใช้ ซึ่งผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องทำหนังสืออนุญาตยินยอมให้เสนอชื่อได้เพียงพรรคเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐบาลและคสช.ได้คาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ในวันที่ 24 ก.พ. 2562 และจะประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 24 เม.ย. 2562 เพราะรัฐบาลไม่เคยพูดเป็นอย่างอื่น
ส่วนวันที่ 8 พ.ค. 2562 คาดว่าจะเป็นวันเปิดประชุมรัฐสภานัดแรก เพื่อโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้นจะมีการแต่งตั้งรายชื่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะต้องเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่และแถลงนโยบายภายใน 15 วัน ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดลงของรัฐบาลชุดเดิมและคสช. ภายในเดือน มิ.ย. 2562
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ระบุว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพราะรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ในบทเฉพาะกาล ว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งการกำหนดปฏิทินในครั้งนี้ เป็นการอ้างอิงตามกฎหมาย ไม่ได้นั่งเทียนเขียน ส่วนจะมีปัจจัยอื่นทำให้ปฏิทินคลาดเคลื่อนออกไปอีกนั้น ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือกฎหมาย และไม่ทราบว่าการประชุมร่วม คสช.และพรรคการเมือง จะเกิดขึ้นในวันใด แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน พ.ย.นี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจในต่างประเทศ
ส่วนการทำงานทั้ง 4 รัฐมนตรีที่เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น จะต้องไม่ใช้เวลาราชการ ทรัพย์ของทางราชการ บุคลากร และสถานที่ ที่จะเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทางการเมือง ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ รวมถึงนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้เข้าร่วมพรรคการเมือง จะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองตามกฎหมาย ไม่ใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์แก่นักการเมืองคนใด