ไม่พบผลการค้นหา
เผยหลังหมดสัญญาฝังกลบในปี 2568 ทางศูนย์ฯมีแผนจะทำเตาเผาขยะไฟฟ้า 1,000 ตัน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์กำจัดมูลฝอยเขตสายไหม ในซอยสุขาภิบาล 5 ระหว่างนั้นกล่าวว่า โดยปกติที่ศูนย์มีการกำจัดขยะราว 2,000 ตัน/วัน โดยการจัดการกับขยะจะแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 1,000 ตันจะนำไปฝังกลบที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยสัญญาส่วนนี้จะหมดในปี 2568 ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนถึงปัญหาเรื่องกลิ่น และเสียงดังรบกวนเมื่อมีการใช้รถแบคโฮเกลี่ยขยะในตอนกลางคืน

ทั้งนี้ จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไปดู เพราะเราเป็นหน่วยงานรัฐ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเอกชนด้วยซ้ำในเรื่องการดูแลความเดือดร้อนของประชาชน ขอฝากรองผู้ว่าฯกทม. จักกพันธุ์ ผิวงาม ดูแลไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

ชัชชาติ โรงขยะสายไหม

ทั้งนี้ หลังหมดสัญญาฝังกลบในปี 2568 ทางศูนย์ฯมีแผนจะทำเตาเผาขยะไฟฟ้า 1,000 ตัน ซึ่งตามกฎหมายในปัจจุบัน เข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว (EIA) และหากภาคเอกชนมาร่วมลงทุน ก็ไม่จำเป็นต้องทำโครงการผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนแล้ว แต่เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะต้องดูเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เข้มข้น และการจัดซื้อจัดจ้างต้องอยู่ในราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระประชาชนด้วย

อีก 1,000 ตัน นำไปกำจัดที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ซึ่งจะมีทั้งการคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิล ทำเป็นขยะเชื้อเพลิง (RDF) สำหรับโรงปูนซีเมนต์ และที่เหลือ 20% นำไปฝังกลบ โดยสัญญาเพิ่งเริ่มต้นในปี 2565 มีผลผูกพัน 20 ปี ยาวถึงปี 2585

ปัญหาที่เจอ คือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กทม. ได้มีการลงทุนในเรื่องตัวบีบอัดขยะราว 700 กว่าล้านบาท แต่ปัจจุบันส่วนนี้ยังไม่ค่อยได้ใช้งานมาก จุดประสงค์ในขั้นแรกในการบีบอัดขยะเพื่อไม่ให้เกิดการปลิวหรือน้ำรั่วถือว่าดีระดับนึง แต่ในทางปฏิบัติ ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุขยะมีน้ำหนักมาก บรรจุปริมาณขยะได้น้อยลง ต้นทุนในการขนขยะโดยเฉพาะค่าน้ำมันเลยสูงขึ้น ท้ายที่สุดจึงต้องไปดูเรื่องความคุ้มค่าว่าเป็นอย่างไร และเนื่องจากสัญญาที่ทำไปแล้วมีผลผูกพัน 20 ปี หน้าที่เราคือต้องมองไปอนาคตว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุด

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาพื้นผิวถนนเป็นคลื่นบริเวณทางเข้า-ออกของศูนย์ฯที่เอกชนทำ ส่งผลให้ กทม. ไม่สามารถเข้าไปดูแลปรับปรุงปัญหานี้ได้ ถือเป็นข้อเตือนใจว่าเมื่อมีโครงการลงทุนหลายร้อย-พันล้านบาท ก็ควรจะมีทางเข้า-ออกที่ถูกต้องด้วย ส่วนเรื่องระบบคัดแยกในภาพรวมยังไม่ชัดเจน หากสามารถทำให้ดี แยกขยะเปียกออกได้ น่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นลง ซึ่งต้องอยู่ในราคาที่สมเหตุสมผลเช่นกัน โดยอาจจะเริ่มต้นโครงการแยกขยะนำร่องในบางเขตก่อน และการจัดเก็บขยะจากภายในชุมชนจากเดิมอยู่ที่ 1 ครั้ง/สัปดาห์ อาจจะเพิ่มเป็น 2 ครั้ง/สัปดาห์ด้วย

“กทม. ใช้เงินไปกับการจัดเก็บขยะปีละเป็นหมื่นล้าน ขณะที่ใช้เงินไปกับงานสาธารณสุขที่ 6,000 ล้าน การศึกษาแค่ 4,000 ล้าน ถ้าเรามีเงินเหลือจากการเก็บขยะ เด็กของ กทม. ก็จะมีเงินสำหรับการศึกษามากขึ้น คนเฒ่าคนแก่ก็จะมีเงินกับระบบสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นเงินบ่อเดียวกัน ดังนั้น หน้าที่ของเราคือต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ชัชชาติ โรงขยะสายไหมชัชชาติ โรงขยะสายไหมชัชชาติ โรงขยะสายไหม