ไม่พบผลการค้นหา
'วิโรจน์' บุกโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช พบยังดำเนินการต่อ พร้อมตั้งข้อสังเกต มีเจตนาทำให้แย่แต่แรก เพื่อเอื้อมาเฟียธุรกิจบ่อกลบขยะหรือไม่ ด้าน 'กรุงเทพธนาคม' เดินหน้าปรับปรุงการดำเนินงานโรงกำจัดขยะผลิตกระแสไฟฟ้าตามคำสั่ง กกพ. ให้ความมั่นใจชาวกรุงเทพฯ การจัดเก็บขยะวันละ 800 ตันต้องไม่ตกค้าง เร่งดำเนินการแก้ปัญหากลิ่นให้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล หมายเลข 1 พร้อมด้วย ฐาปนีย์ สุขสำราญ ผู้สมัคร ส.ก.เขตประเวศ พรรคก้าวไกล หมายเลข 6 เดินทางไปยังหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์ค ถนนเฉลิมพระเกียรติ ซอย 67 พื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะของ บริษัท กรุงเทพธนาคม โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางกลิ่นที่เหม็นรบกวนความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรง และกระจายไปไกลในรัศมีกว่า 5 กิโลเมตร มีหมู่บ้านได้รับผลกระทบกว่า 30 หมู่บ้าน ล่าสุด มีคำสั่งจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้สั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของ บริษัท กรุงเทพธนาคม เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม Code of Practice : CoP สำหรับการใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการจัดการเชื้อเพลิงขยะชุมชนจนส่งผลให้เกิดปัญหากลิ่นเน่าเหม็นต่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง 

วิโรจน์ กล่าวว่า แม้มีคำสั่งดังกล่าวออกมา แต่ไม่ได้หมายความว่า การดำเนินกิจกรรมในโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้จะยุติลง ในทางกลับกันอาจเอื้อให้โรงไฟฟ้าขยะกลายเป็นที่พักขยะ เพื่อส่งต่อไปฝังกลบในบ่อขยะในพื้นที่อื่น รวมถึงบ่อใหญ่ในจังหวัดข้างเคียง หมายความว่า กรุงเทพมหานครอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 800 บาทต่อตัน และหากการกำจัดขยะโดยเปลี่ยนเป็นพลังงานทำไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการลดการฝังกลบ จากเดิมร้อยละ 80 ให้เหลือร้อยละ 30 ปัญหาขยะแบบเดิมๆก็จะยังอยู่กับกรุงเทพต่อไป 

c36c7176-28b5-4e95-9689-5d74ef78b595.jpg

“หลายคนมองว่า ผมแอนตี้โรงไฟฟ้าขยะ ความจริงไม่ใช่เลย พวกเรามองว่าเป็นแนวคิดที่ดีด้วยซ้ำในการเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงานด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพราะไม่ว่าสวีเดน โกเบ โอซาก้า โรงไฟฟ้าขยะไปตั้งที่ไหนเขาก็ยิ่งยินดี เพราะหมายถึงเขาจะได้อากาศที่กรองสะอาดขึ้น มีน้ำที่สะอาดขึ้น อย่างในญี่ปุ่นกรองเสียจนน้ำสะอาดเกินไป ทำให้ปลาไม่แข็งแรง เจอเชื้อโรคจะตายง่าย เลยต้องเติมสารเคมีเพิ่มลงไปด้วยซ้ำ โรงงานแบบนี้อยู่กับเมืองของเขามา 20-30 ปีก็ไม่มีปัญหา แต่ของเรากลายเป็นว่าเอาโครงการที่ดีระดับโลกมาตายที่ กทม.ไปหมด กรุงเทพธนาคมซึ่งเป็นบริษัทของ กทม. แทนที่ทำแล้วจะกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น กลับทำลายความเชื่อใจของประชาชนในพื้นที่ เพราะเมื่อมีปัญหาตั้งแต่โครงการแรก โครงการที่สองที่สามก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในที่สุดก็จะต้องใช้การฝังกลบต่อไปกลายเป็นปัญหาระยะยาว ” 

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหากลิ่นของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัญหาขยะมากถูกพักไว้แล้วเกิดกลิ่นเหม็น แต่กลิ่นที่รุนแรงขนาดนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากกระบวนการหมักของขยะ เพื่อเตรียมเปลี่ยนเป็น RDF : Refuse Derived Fuel หรือเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งเดิมออกแบบไว้เป็นระบบปิด แต่จากการตรวจสอบของกรมโรงงานพบว่า ระบบบำบัดกลิ่นเสีย ทำให้เกิดกลิ่นที่รุนแรงจนต้องเปิดระบายออกมาสร้างปัญหาให้พื้นที่รอบข้างและนำไปสู่การร้องเรียนต่างๆ

อย่างไรก็ตาม วิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า การทำให้เทคโนโลยีดีๆ กลายเป็นระบบที่ใช้การไม่ได้ อาจเกิดจากความจงใจเอื้อกลุ่มทุนธุรกิจบ่อขยะที่จะเสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่านำไปฝังกลบที่ กทม.ต้องจ่ายดังที่กล่าวไปข้างต้น หรือจากรายได้ที่คนเข้าไปคัดแยกเอาขยะต้องเสีย ซึ่งตรงนี้รู้กันว่าเป็นธุรกิจที่มีมาเฟียคุมมาอย่างยาวนาน เมื่อโรงไฟฟ้าขยะเหล่านี้ใช้งานไม่ได้ สุดท้ายจะเหลือสภาพเป็นเพียงจุดพักขยะเพื่อรอนำไปที่บ่อขยะรอการฝังกลบ สำหรับพื้นที่จุดพัก จากแค่ปัญหากลิ่นก็จะขยายต่อกลายเป็นปัญหาน้ำเพราะไม่เชื่อว่าจะมีการออกแบบไว้เพื่อรองรับขยะที่หมักหมมและน้ำเสียอาจซึมลงดินไปสู่แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ๆได้

หลังการพบปะรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ วิโรจน์ รุดไปพูดคุยกับพนักงานที่ทำงานในโรงไฟฟ้าขยะโดยตรง เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการซ่อมระบบบำบัดกลิ่นที่เสีย และรูปแบบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขยะ หลังมีคำสั่งจาก กกพ.สั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ว่ายังมีการดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการยุติการขายไฟฟ้าเท่านั้น แต่การดำเนินการหมักเพื่อแปลงขยะเป็น RDF ยังมีอยู่ โดยลดปริมาณลง อย่างไรก็ตาม การรับขยะเข้ามาวันละ 800 ตัน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและยอมรับว่า หากกระบวนการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานหยุดชะงักก็เป็นไปได้ที่จะต้องนำไปสู่กระบวนการฝังกลบ ส่วนการซ่อมระบบบำบัดกลิ่นจะเสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งทางวิโรจน์ ได้ขอว่า หากซ่อมเสร็จจริงขอให้รายงานไปทางคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อจะขออนุญาตนำคณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วยทีมวิศวะสิ่งแวดล้อมลงมาตรวจสอบ ซึ่งทางบริษัทรับปากตามที่ขอ 

วิโรจน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า โรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ เกิดจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ซึ่งละเว้นกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ประชาชนในพื้นที่จึงยังมีข้อสงสัยว่า การจัดการที่ล่าช้าในเวลานี้ เป็นเพราะคณะกรรมการบริษัทแห่งนี้มีนายทหารระดับสูงที่อาจรู้จักกับ พล.อ.อนุพงศ์ ,พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ด้วยหรือไม่ รวมถึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์นายทุนธุรกิจบ่อกลบขยะในจังหวัดข้างเคียง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาอะไรก็ตามที่ควรจะทำได้ง่ายกลับกลายเป็นยาก


'กรุงเทพธนาคม' เร่งปรับปรุงโรงกำจัดขยะผลิตกระแสไฟฟ้า

ล่าสุด เกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าว สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้มีการแจ้งคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า มายังบริษัทฯ ปรากฏตามสื่อมวลชนนั้น ขอเรียนว่าบริษัทฯ ได้รับอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า กำลังการผลิต 4.2 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานด้วยวิธีเชิงกลชีวภาพ แบบหมักไร้อากาศ ขนาด 800 ตันต่อวัน ด้วยเทคโนโลยีMBT (Mechanical Biological Treatment) นำน้ำหมักขยะมาหมักแบบไร้อากาศในระบบปิดและได้ผลพลอยได้เป็นเชื้อเพลิง RDF และกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดปัญหาการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานครด้วยระบบเก่าโดยการ   ฝังกลบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  โดยในกระบวนการกำจัดขยะของบริษัทเป็นระบบไบโอแก็สซึ่งใช้เครื่อง Generatorผลิตไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้จึงไม่เกิดความร้อนสูงและฝุ่น 

LINE_ALBUM_ชี้แจง800ตัน250365_๒๒๐๔๐๗.jpg

สำหรับปัญหาร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นนั้นบริษัทฯมิได้นิ่งนอนใจ ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ มาตามลำดับ และมีการเชิญตัวแทนชุมชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วมตรวจติดตามมาตรการการแก้ไขกับทางบริษัท ตามที่ได้มีการประชุมไป เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 และ 25 มีนาคม 2565 ซึ่งได้ดำเนินการแก้ปัญหาไปหลายส่วนแล้ว ทั้งมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาว ขณะนี้คงเหลือเพียงการปรับเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องบำบัดอากาศในอาคารให้สามารถบำบัดได้มากขึ้นเป็น 100,000 ลบ.ม.ต่อวัน คาดว่าจะพร้อมใช้งานภายในปลายเดือนเมษายน หรือไม่เกินต้นเดือนพฤษภาคม นี้

เกรียงพล กล่าวต่อว่า สำหรับคำสั่งที่สำนักงานคณะกรรมการ กกพ.ได้แจ้งตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น ระบุให้บริษัทดำเนินการปรับปรุงระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องและการเตือนค่าความเข้มข้นมลพิษทางอากาศ รวมทั้งการปรับปรุงระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพ บริษัทได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 พบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนในเรื่องการตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

LINE_ALBUM_ชี้แจง800ตัน250365_๒๒๐๔๐๗_1.jpg

ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนประชาชน 9 คน ตัวแทนหน่วยงานราชการ 5 คน และบริษัท 2 คน นั้น ในส่วนของตัวแทนประชาชน บริษัทฯได้มีหนังสือถึงสำนักงานเขตประเวศตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้เขตส่งรายชื่อประชาชนตามขั้นตอน ส่วนตัวแทนหน่วยงานได้มีการประสานเชิญตัวแทนเข้าร่วมแล้ว โดยระหว่างนี้บริษัทฯได้เชิญชุมชนโดยรอบเข้ามาตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาตามที่ได้เรียนแจ้งข้างต้นมาเป็นระยะ เพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจที่บริษัทฯได้เร่งรัดแก้ไขปัญหาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรอการสั่งการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้บริษัทพร้อมที่จะแสดงเอกสารหลักฐานการดำเนินการตามข้อเสนอของกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โดยจะมีการแจ้งความคืบหน้าต่อสำนักงาน กกพ.ตามที่สั่งการ เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน

เกรียงพล กล่าวด้วยว่า บริษัทขอยืนยันว่าการหยุดผลิตกระแสไฟฟ้า จะไม่กระทบต่อการดำเนินการจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ที่มีขยะในแต่ละวันรวมกว่า 10,000 ตัน ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทฯรับผิดชอบดำเนินการกำจัดวันละ 800 ถึง 1,000 ตัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบขยะตกค้างในพื้นที่ โดยเฉพาะในภาวะที่ขยะทั่วไปมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคซึ่งอาจส่งผลต่อสุขอนามัยของประชาชนหากไม่ทำการเก็บขนมูลฝอยตามสถานที่ต่างๆ ได้ตามปกติ อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อชาวกรุงเทพฯเป็นวงกว้าง และบริษัทพร้อมที่จะเร่งรัดการแก้ปัญหาในทุกๆ วิถีทางเพื่อลดผลกระทบให้ชุมชนโดยรอบโรงงานอย่างเต็มที่เช่นกัน