ไม่พบผลการค้นหา
ข้อมูลพื้นฐาน
  • กรุงเทพฯ เมืองหลวงผลิตขยะวันละราว 10,000 ตัน
  • เฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ แต่ละคน สร้างขยะวันละ 2 ก.ก.
  • เกือบครึ่งหนึ่งเป็นเศษอาหาร อีกเกือบ 20% เป็นพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้
  • ในจำนวนขยะทั้งหมดของกรุงเทพฯ ใช้วิธีขนไปฝังกลบที่นครปฐม-ฉะเชิงเทราเสีย 80%
  • รัฐบาลมีเป้าหมายว่าจะลดการฝังกลบให้เหลือ 30% ภายในปี 2567 โดยเอาขยะอินทรีย์จำนวนมากไปทำปุ๋ยหมัก เชื้อเพลิงแข็ง (RDF) ก๊าซชีวภาพ และผลิตไฟฟ้า
  • กทม.ใช้งบประมาณเกี่ยวกับการจัดการขยะทั้งหมดกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 10% ของงบประมาณทั้งหมด 
  • กทม.มีศูนย์กำจัดขยะขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ สายไหม หนองแขม อ่อนนุช

-สายไหม : ยังไม่มีเตาเผาขยะ กำลังจะมีการพิจารณาในอนาคต

-หนองแขม : ดำเนินการเอาขยะไปผลิตไฟฟ้า รองรับขยะวันละ 500 ตันมาตั้งแต่ปี 2559 และกำลังขยายโปรเจ็คใหม่ที่บริษัทซีแอนด์จีฯ ชนะการประมูลไปเมื่อปี 2562 รองรับขยะเพื่อผลิตพลังงานได้ 1,000 ตันต่อวัน

-อ่อนนุช : นำขยะไปผลิตไฟฟ้า รองรับขยะวันละ 800-1,000 ตันต่อวัน บริษัทที่ชนะประมูลเมื่อปี 2562 คือ นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด เครือเดียวกับบริษัทซีแอนด์จีฯ ที่หนองแขม

  • ทั้งหนองแขม-อ่อนนุช ได้ฉายาว่า 'โครงการเตาเผาขยะ 12,000 ล้าน' ที่โจษจันกันว่า รองผู้ว่าฯ ขณะนั้น (ปี 2562 ยุคพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) ถึงกับยอมลาออก เพราะไม่อยากเซ็นอนุมัติทั้ง 2 โครงการที่มีเอกชนไปร้องเรียนเรื่องการ 'ล็อกสเป็ก' ประมูล ขณะนี้เรื่องอยู่ ป.ป.ช.
  • รองผู้ว่าฯ ยุคนั้นที่ลาออก กลายเป็นรองผู้ว่าฯ อีกหนในสมัยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่นก็คือ จักกพันธุ์ ผิวงาม
  • เหตุที่เรียกขานว่า 'โครงการเตาเผาขยะ (2 แห่ง) 12,000 ล้าน' นั่นก็เพราะแม้จะเป็นสัญญาแบบ BOT(Build-Operate-Transfer) คือเอกชนลงทุนก่อสร้างเอง และทรัพย์สินจะเป็นของกทม.ภายหลังสิ้นสัญญาราว 20 ปี แต่ระหว่างทาง กทม.ต้องจ่ายค่าเหมาจ่ายดำเนินการให้เอกชนช่วง 20 ปีนั้นรวมแหล่งละประมาณ 6,000 กว่าล้านนั่นเอง 
  • ประเด็นร้อนขณะนี้คือ กรณีของอ่อนนุช เพราะมีการร้องเรียนจากชุมชนเกี่ยวกับมลภาวะ อีกทั้งผู้สมัครผู้ว่าฯ ทั้ง ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ จากพรรคก้าวไกล รวมถึง ‘รสนา โตสิตระกูล’ ผู้สมัครอิสระก็ลงพื้นที่ช่วยกระจายเสียงชาวบ้าน จนกระทั่งศูนย์จำกัดขยะอ่อนนุชถูกสั่งปิดกิจการเพื่อให้ปรับปรุง และชาวบ้านโดยรอบก็ยังคงร้องเรียนต่อเนื่อง

#เกิดอะไรขึ้นที่อ่อนนุช ?

ข้างในโรงงานกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าอ่อนนุช เข้าไปพร้อมชัชชาติ (1).jpg

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และรองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ผิวงาม ลงพื้นที่ร้องเรียนโรงขยะอ่อนนุช เมื่อ 17 มิ.ย.2565 (ภาพถ่ายโดย สุภาพร ธรรมประโคน)


ทำความเข้าใจก่อนว่า ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช มีพื้นที่ 580 ไร่ รองรับขยะ 3,400-4,000 ตันต่อวัน ภายในศูนย์นี้แบ่งเป็นหลายส่วน หลายผู้รับผิดชอบ ดังนี้

(1) สถานีขนถ่ายมูลฝอย รองรับขยะ 1,000 ตันต่อวัน ตรงนี้บริษัท ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ จำกัด ชนะประมูลในการรวบรวมนำขยะมาเท ดันเข้าอาคาร เทลงรถบรรทุกคลุมพลาสติกเพื่อนำไปฝังกลบอย่างมีมาตรฐาน ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

(2) โรงจำกัดมูลฝอยด้วยการหมักปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีอยู่ 2 โรง รองรับขยะได้วันละ 1,600 ตัน รับผิดชอบโดย บริษัท ยูโรเวสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยจะมีการคัดแยกมือและแม่เหล็ก เพื่อแยกขยะรีไซเคิล ขยะที่จะเอาไปฝังกลบ ขยะที่จะเอาไปทำเชื้อเพลิงแข็ง (RDF) ขยะที่จะเอาไปหมัก โดยเอาเข้าโรงบ่ม 40 วันได้ปุ๋ยหมักหรือสารปรับสภาพดิน 500 ตันต่อวัน

(3) โรงกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อด้วยความร้อนสูง รับผิดชอบโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดถือหุ้นเกือบทั้งหมดโดย กทม. มีอยู่ 3 โรง รองรับขยะได้ราววันละ 80 ตัน โดยรับขยะติดเชื้อจาก รพ., รพ.สนาม ตัวเลขขยะติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงโควิดพีคๆ เมื่อปลายปีทีแล้ว มากกว่าศักยภาพจะรองรับได้

(4) โรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า รับผิดชอบโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่ได้รับใบอนุญาตมา 3 ใบ ทั้งหมดนั้นอยู่ในศูนย์จำกัดมูลฝอยอ่อนนุช คือ 

(4.1) โรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้า กำลังผลิต 4.268 เมกกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ

(4.2) โรงผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำหมักขยะอินทรีย์

(4.3) โรงอัดขยะเป็นเชื้อเพลิงแข็ง (RDF)

_ด้านหน้าโรงขยะ 800 ตัน.jpg

โรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า รับผิดชอบโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (ภาพถ่ายโดย สุภาพร ธรรมประโคน)


  • โรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าที่อ่อนนุชแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ ก่อสร้างเสร็จและเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 รองรับมูลฝอย 800 ตันต่อวัน โดยจะคัดแยกวัสดุสำหรับรีไซเคิลและทำ RDF ออก ส่วนมูลฝอยอินรีย์จะเอาไปหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า และจุดนี้เองที่เป็นประเด็น
  • ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าขยะ โดยเฉพาะในหมู่บ้านอิมพีเรียล ปาร์ค หมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างไปไม่ถึง 100 เมตร ได้ร้องเรียนกับหลายหน่วยงานตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงเรื่อง 'กลิ่น'
  • แน่นอนว่า ในข่าวสารที่ออกมาผู้คนจะเข้าใจว่าหมายถึงกลิ่นเหม็นเน่าของขยะ นั่นอาจใช่ส่วนหนึ่ง แต่ในจดหมายร้องเรียนของประชาชนระบุถึง กลิ่นสารพิษจาก ‘การเผาไหม้’ ซึ่งมีสารพิษหลายตัว ทั้งจากขยะติดเชื้อของกรุงเทพธนาคมเอง และโรงไฟฟ้าขยะที่เอกชนรับช่วงไปดำเนินการอยู่
  • นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ชาวบ้านโดยรอบกังวลมากคือ ‘ความปลอดภัย’ เกี่ยวกับระบบเก็บกักก๊าซจากการหมักขยะจำนวนมหาศาลที่จะนำมาผลิตไฟฟ้า เรื่องนี้รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ผิวงาม ระบุว่า จะให้ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 เข้ามาตรวจสอบและชี้แจงกับประชาชน เพื่อสร้างความมั่นใจ
  • ในการปิดศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช หน่วยงานที่ออกมาขยับก่อนใคร ไม่ใช่หน่วยตรวจสอบอย่างกรมโรงงานฯ ของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เป็น 'คณะกรรมการกำกับกิจการด้านพลังงาน' ของกระทรวงพลังงาน โดยมีการลงพื้นที่ตรวจสอบจนมีคำสั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของบริษัทกรุงเทพธนาคมเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2565 เหตุผลหลักคือ 1.บริษัทไม่ปฏิบัติตามมาตรการสิ่งแวดล้อมตามหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) จนสร้างผลกระทบเรื่องกลิ่นกับชุมชนใกล้เคียง 2. การควบคุมคุณภาพอัตราการระบายอาศไม่เป็นตามค่ามาตรฐานที่กำหนดตามประกาศกระทรวงทรัพฯ
  • แปลความง่ายๆ ได้ว่า จัดเก็บขยะไม่ดีพอทำให้ส่งกลิ่นเหม็น และไม่ได้ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMs) นั่นเอง ซึ่ง CEMs นี้จะวัดค่าความเข้มข้นมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่องและมีการเตือนถึงความผิดปกติหากค่าเกินมาตรฐาน
สถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช ภาพด้านนอกถ่ายบนถนน.jpg

ภายในโรงคัดแยกขยะอ่อนนุช (ภาพถ่ายโดย สุภาพร ธรรมประโคน)

ข้างในโรงงานกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาด 800 ตันต่อวัน เข้าไปพร้อมชัชชาติ (3).jpg
  • จากนั้น 28 เม.ย.2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีคำสั่งให้หยุดกิจการทั้งหมดเช่นเดียวกัน จากกรณีเรื่องมลภาวะ และยังรวมถึงเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับที่เก็บก๊าซด้วย โดยให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 31 พ.ค.ที่ผ่านมา
  • บริษัทได้ชี้แจงกับ กกพ. และกรมโรงงานฯ ว่า ได้ดำเนินการปรับปรุงสร้าง ‘ระบบปิด’ ไม่ให้กลิ่นเล็ดรอด รวมทั้งติดตั้งระบบ CEMs แล้วด้วย โดยระบุว่าที่ผ่านมา ‘ไม่ได้ติดตั้ง CEMs’ เพราะเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิง ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองรวม (TSP) และความร้อนจากการเผา จึงไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองและเครื่องวัดอุณหภูมิ ประกอบกับบริษัทใช้วิธีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ปลายปล่องแทนแล้วก็พบว่า ไม่ได้เกินค่ามาตรฐาน แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายก็ได้ติดตั้งทุกอย่างตามที่ กกพ. และกรมโรงงานแจ้งแล้ว
  • ปัจจุบัน ทาง กกพ. ระบุว่า โรงไฟฟ้าขยะยังปิดไม่มีกำหนด จนกว่าจะตรวจสอบว่าทุกอย่างผ่าน ขณะที่ในการประชุมของคณะกรรมการติดตามและตรวรจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3 ฝ่าย เมื่อ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานการประชุมจากกรุงเทพธนาคมระบุว่า กรมโรงงานฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการตามปกติได้แล้วในส่วนโรงไฟฟ้าและโรงผลิตก๊าซชีวภาพ (ปิดเพียงส่วนโรงคัดแยก) แล้วตั้งแต่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ทุกส่วนก็ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องจากทั้งโรงไฟฟ้า-โรงผลิตก๊าซ-โรงคัดแยก ทำงานเชื่อมโยงกัน และ กทม.เองก็ต้องการตรวจสอบให้แล้วใจทั้งหมดเสียก่อน
  • ประเด็นนี้ยังคงเข้มข้นต่อเนื่อง ชาวหมู่บ้าน ‘อิมพีเรียล ปาร์ค’ ยังคงเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน ล่าสุด คณะกรรมติดตามและตรวจสอบฯ ที่ กกพ.มีคำสั่งให้ตั้งนั้น ก็มีการต่อสู้กันจนกระทั่งตัวแทนจากหมู่บ้านอิมพีเรียล ปาร์ค ถูกเพิ่มชื่อให้เป็นส่วนหนึ่งด้วย หลังจากร้องเรียนไปว่า ตัวแทนหมู่บ้านใกล้ๆ ไม่ได้ร่วม ที่ดึงมาร่วมมีแต่ตัวแทนหมู่บ้านไกล
  • เรื่องโรงไฟฟ้าขยะนั้นเป็นนโยบายระดับชาติ โดยหลังการยึดอำนาจไม่นาน ในปี 2559 คณะรัฐมนตรีของ คสช.อนุมัติให้กระทรวงทรัพฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดทำ ‘แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศระยะสั้น (พ.ศ.26659-2564)’ ซึ่งทำให้มีแผนการจัดการขยะในจังหวัดต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เฉพาะกลุ่มพื้นที่ขนาดใหญ่ (L) ปรากฏในแผน 27 จังหวัด อปท.สามารถใช้วิธีการฝังกลบ ทำปุ๋ย ทำเตาเผาขนาดเล็ก RDF ทำเตาเผาขนาดใหญ่ และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ การสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะจึงถือกำเนิดขึ้นในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า มีการยกเว้นการทำ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA สำหรับโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะมูลฝอยด้วย โดยวิโรจน์จากพรรคก้าวไกลระบุว่า การเกิดของโรงงานกำจัดขยะอย่างเช่นที่อ่อนนุช ก็เกี่ยวพันกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 4/2559 ที่อนุญาตให้สร้างโรงงานกำจัดขยะใกล้ชุมชนได้โดยไม่ต้องผ่านการทำ EIA
  • เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า โรงไฟฟ้าขยะในประเทศไทยมีอยู่ 25 แห่ง ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช มหาสารคาม ยะลา ราชบุรี สงขลา สมุทรปราการ สระแก้ว สุโขทัย อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นนทบุรี ระยอง หนองคาย กระบี่ ตาก อุดรธานี กรุงเทพฯ และหากเราค้นหาข่าวย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจะพบว่า โครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดในหลายพื้นที่เจอชาวบ้านประท้วงอย่างหนักเพราะข้อกังวลเกี่ยวกับมลพิษ  
ร้ายคัดแยกขยะใกล้โรงขยะอ่อนนุช.jpgร้ายคัดแยกขยะใกล้โรงขยะอ่อนนุช.jpgร้ายคัดแยกขยะใกล้โรงขยะอ่อนนุช.jpg

ร้านเอกชนคัดแยกขยะรอบๆ ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช (ภาพถ่ายโดย สุภาพร ธรรมประโคน)