ไม่พบผลการค้นหา
หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เปิดเผยว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียอาจรู้สึกว่าความพ่ายแพ้ในสงครามยูเครน อาจหมายถึงภัยคุกคามต่อการมีอยู่ของรัสเซีย ซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่กระตุ้นให้รัสเซียตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ นอกจากนี้ หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ยังชี้อีกว่า รัสเซียมีการวางแผนทำสงครามยาวในยูเครนแล้ว

คำเตือนจากหัวหน้าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (10 พ.ค.) ในการเข้าให้ข้อมูลกับสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ถึงภัยคุกคามรอบโลก หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ยูเครนจะเจอกับสงครามที่ยืดเยื้อและทรหดยาวนานออกไป ซึ่งอาจทำให้ปูตินยกระดับสถานการณ์อื่นๆ มากยิ่งขึ้น เช่น การยกพลเต็มรูปแบบ การประกาศกฎอัยการศึก ไปจนถึงขั้นว่าหากผู้นำรัสเซียรู้สึกว่าสงครามยูเครนกลายเป็นสงครามต่อต้านตัวเอง และส่งผลกระทบต่อเก้าอี้ของตนในมอสโก ปูตินอาจเลือกใช้อาวุธนิวเคลียร์ในท้ายที่สุด

การทำนายในครั้งนี้จากทางการสหรัฐฯ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์สงครามในยูเครน ที่รัสเซียกำลังเดินหน้าการรุกรานในพื้นที่ทางตะวันออกและทางตอนใต้ของยูเครนอย่างต่อเนื่อง โดย เอวริล เฮนส์ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยกับคณะกรรมการด้านอาวุธของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า รัสเซียจะเดินหน้าไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพื่อขัดขวางไม่ให้สหรัฐฯ และพันธมิตรสนับสนุนยูเครนต่อไป

นอกจากนี้ เฮนส์ย้ำว่าการปรับเปลี่ยนยุทธวิธิของรัสเซียในการถอนทัพออกจากตอนเหนือและรอบกรุงเคียฟ และมุ่งสรรพกำลังไปยังพื้นที่ทางตะวันออกและทางตอนใต้ของยูเครนนั้น เป็นกลวิธีชั่วคราวมากกว่าจุดมุ่งหมายของสงครามอย่างถาวร เฮนส์ย้ำว่าปูตินจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์จนกว่าปูตินจะรู้สึกว่าตนกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามของการมีอยู่ของรัสเซียหรือระบอบของตนเอง แต่เฮนส์กล่าวว่าภัยคุกคามนั้นอาจหมายถึงความพ่ายแพ้ในยูเครนของปูตินเอง

“เราคิดว่า (การรับรู้ของปูตินถึงภัยคุกคามของการมีอยู่) อาจเป็นกรณีที่เขารับรู้ว่าเขากำลังจะแพ้สงครามในยูเครน และนาโต้ที่มีอยู่ในตอนนี้ อาจเข้าทำการการแทรกแซงหรือไม่ก็กำลังจะเข้าไปแทรกแซงในบริบทดังกล่าว ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีส่วนทำให้เกิดการรับรู้ว่าเขากำลังจะแพ้สงครามในยูเครน” เฮนส์กล่าวต่อคณะกรรมการ โดยหัวหน้าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ย้ำว่า นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนต่อโลกว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์กำลังจะเดินหน้าใกล้เข้ามาถึงตัวเรา

เฮนส์กล่าวว่า การส่งสัญญาณเตือนของรัสเซียในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อาจเป็นการซ้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ รวมไปถึงการใช้ขีปนาวุธข้ามทวีปที่เคลื่อนที่ได้ในจำนวนมาก การใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดหนัก ตลอดจนการซ้อมการใช้เรือดำน้ำกลยุทธ หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ยังได้ชี้อีกว่า ยูเครนกำลังเจออยู่กับสงครามพร่ากำลัง ที่รัสเซียพยายามจะลดทอนสรรพกำลังของยูเครนไปในระยะยาว

หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ชี้ว่า ปูตินมีเจตจำนงในการเข้ายึดพื้นที่ลูฮันสก์และโดเนตสค์ ตลอดจนพื้นที่กันชนรอบๆ ดินแดนดังล่าว ไปจนถึงการสร้างดินแดนที่จะเป็นสะพานเชื่อมไปยังไครเมียที่รัสเซียยึดไปจากยูเครน และผนวกรวมเข้ากับตนเองในปี 2557 นอกจากนี้ ปูตินยังต้องการจะยึดครองแคร์ซอน และตอนเหนือของไครเมียเพิ่มเติม เพื่อทำให้ตนสามารถส่งน้ำจืดเข้าไปยังคาบสมุทรดังกล่าวได้

ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามี “สัญญาณบ่งชี้” ว่าปูตินต้องการจะขยายดินแดนที่จะเป็นสะพานเชื่อมไปยังทรานส์นิสเทรีย ภูมิภาคของมอลโดวาที่รัสเคยยึดไปก่อนหน้านี้ และด้วยเหตุดังกล่าว รัสเซียจึงพยายามเข้าควบคุมชายฝั่งทางทะเลดำของยูเครนทั้งหมด อย่างไรก็ดี เฮนส์ย้ำว่าการสร้างดินแดนเป็นสะพานเชื่อมไปยังทรานส์นิสเทรีย กับการเข้ายึดโอเดสซาของยูเครนโดยรัสเซียยังคงไม่ใช่เรื่องง่าย หากรัสเซียไม่มีการระดมกำลังเต็มรูปแบบ หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ชี้อีกว่า การเข้ายึดภูมิภาคดอนบาสทั้งหมดของรัสเซียอาจจะไม่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่กำลังจะมาถึง

สหรัฐฯ คาดว่ามีนายพลของรัสเซียแล้วอย่างน้อย 8-10 รายที่ถูกสังหารในสมรภูมิยูเครน ในอนาคตจึงอาจทำให้รัสเซียตัดสินใจการในการเคลื่อนพลขนาดใหญ่ได้ และการกระทำดังกล่าวจัดเป็นการประกาศสงครามอย่างไม่เป็นทางการ และกองกำลังที่ถูกระดมเข้าไปจะเป็นทหารที่ได้รับฝึกอย่างชำนาญมาแล้ว อย่างไรก็ดี รัสเซียยังคงต้องใช้ทหาร รวมถึงกระสุนอีกจำนวนมากด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เฮนส์ชี้ว่ารัสเซียพยายามที่จะทำให้คลังสำรองด้านอาหารของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอ่อนแอลงเรื่อยๆ ตลอดจนรัสเซียยังคงรอคอยและเฝ้าจับตาอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานในประเทศตะวันตกที่กำลังย่ำแย่ลง อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มองว่ายูเครนยังไม่ส่งสัญญาณและดูเหมือนจะไม่ยอมแพ้ต่อการรุกรานของรัสเซีย ทำให้การเจรจาระหว่างสองชาติอาจจะยังไม่เกิดในระยะเวลาอันสั้นนี้


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-61402829

https://www.theguardian.com/world/2022/may/10/putin-nuclear-weapons-us-intelligence-avril-haines?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR0fIa4kSdib2DHt2S1Ucc47IFZweq5GSmq7erm2ZvHU1yRP0wAsWm6roQ0