ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกหวั่นเศรษฐกิจโลกปี 2562 ชะลอตัว เชื่อ 'เอไอ' สำคัญแต่ยังไม่พร้อมปรับใช้ ขณะที่ "ซีอีโออาเซียน" ชี้ปัญหาขาดแรงงานมีทักษะด้านดิจิทัล ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นเรื่องใหญ่ของธุรกิจ

ผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก (Global CEO Survey) ซึ่งจัดทำโดยบริษัทพีดับบลิวซี ประเทศไทย เมื่อเจาะไปที่กลุ่มซีอีโอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการชะลอตัวลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการเติบโตด้านรายได้กดตัวในทิศทางที่สอดคล้องกัน

ขณะที่ มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้นักธุรกิจเกิดความกังวลมาจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอาเซียน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจในโลก

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัทพีดับบลิวซี ประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขความเชื่อมั่นของซีอีโอทั่วโลกที่มีต่อเศรษฐกิจโลกพบว่า ร้อยละ 28 มองเศรษฐกิจจะแย่ลง ขณะที่ ร้อยละ 42 มองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูตัวเลขการสำรวจในปีที่ผ่านมา จะพบว่า แต่เดิมบริษัทที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ก่อนเพิ่มสูงขึ้นมาเป็นร้อยละ 28 ในปีนี้ ส่วนสัดส่วนบริษัทที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเมื่อการสำรวจปีที่ผ่านมา เคยมีสูงถึงร้อยละ 57 ก่อนจะหดตัวมาเหลือที่ร้อยละ 42 ในปีนี้ ซึ่งแนวโน้มความเชื่อมั่นนี้ สามารถสะท้อนความวิตกของซีอีโอทั่วโลกที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ได้อย่างดี

อีกทั้ง เมื่อหากมองลึกไปที่บริษัทในอาเซียน ซีอีโอในแถบอาเซียนต่างสะท้อนความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกเช่นกัน โดยตัวเลขสัดส่วนซีอีโออาเซียนที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นลดลงจากร้อยละ 56 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 32 ขณะที่ตัวเลขของซีอีโอที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเพิ่มจากร้อยละ 10 มาอยู่ที่ร้อยละ 46

ขณะที่ ตัวเลขความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจโลกที่ซีอีโอแต่ละบริษัทมองนี้ ยังส่งผลกระทบต่อประมาณการการเติบโตของรายได้องค์กร ที่มีการปรับลดลงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ความขัดแย้งทางการค้า ปัจจัยเสี่ยงเบอร์ 1 ฉุดความเชื่อมั่นซีอีโอปี 2562

นายศิระ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 1 ที่ส่งผลกระทบต่อการคาดกาณ์เศรษฐกิจโลกคือความขัดแย้งทางการค้า ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง ความไม่แน่นอนของนโยบาย กฏระเบียบข้อบังคับที่มากและเข้มงวดเกินไป และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่สัดส่วนร้อยละ 83, 81, 78, 77 และ 73 ตามลำดับ

ขณะที่ ในสายตาซีอีโออาเซียน มีสัดส่วนมากกว่าที่ซีอีโอโลกมองเล็กน้อย

สำหรับประเด็นทางการเมือง นายศิระกล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 8 ร่วมกับญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และ กัมพูชา ในฐานะประเทศที่นักธุรกิจอาเซียนอยากมาลงทุนมากที่สุด ในช่วงระหว่างการสำรวจคือในเดือน ก.ย.- ต.ค. 2561 ซึ่งยังเป็นช่วงที่ไม่ได้มีการประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จึงอาจส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นไม่มาก แต่ย้ำว่า หากมีการทำการสำรวจในเวลาปัจจุบันซึ่งสถานการณ์ทางการเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น อาจสามารถขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 7 ได้


“พูดถึงเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองก็ต้องพูดถึงการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล นำมาซึ่งความไม่แน่นอน หรือความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สร้างเป็นความกังวลของซีอีโอ” นายศิระ กล่าว


"แรงงานขาดทักษะด้านดิจิทัล ความคิดสร้างสรรค์" คือปัญหาหนักอกซีอีโออาเซียน

ขณะที่ในการสำรวจเรื่องอุปสรรคการพัฒนาธุรกิจ ผลสำรวจพบว่า 3 อุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่ซีอีโออาเซียนให้ความใส่ใจเป็นพิเศษคือ ข้อที่ 1) การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยทักษะในที่นี้หมายถึง ทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งประกอบไปด้วย การคิดสร้างสรรค์ การปรับตัว ปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และคลาวด์คอมพิวติ้ง

ส่วนในการสำรวจกลุ่มประเทศเอเปค (APEC) ร้อยละ 81 ของซีอีโอไทยพูดถึงการพัฒนาทักษะแรงงานตรงนี้ ที่ต้องใช้สหวิทยาการ 4 แขนง ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "STEM" หรือ Science, Technology, Engineering and Mathematics โดยซีอีโอต่างต้องการให้รัฐบาลมีการผลักดันอย่างจริงจังเพื่อผลิตแรงงานที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด

สำหรับอุปสรรค ข้อที่ 2) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และ 3) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อาเซียน ไม่พร้อมใช้ 'เอไอ’

อีกประเด็นที่พบจากการสำรวจคือ ผู้นำทางธุรกิจทั่วโลกรวมถึงในอาเซียนทราบดีว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากอาจมีผลต่อความได้เปรียบทางธุรกิจการค้า แต่ธุรกิจในอาเซียนเกือบร้อยละ 40 ยังไม่มีการนำเทคโนโลยีตรงนี้เข้ามาประยุกต์ใช้เลย

ขณะที่ อีกร้อยละ 32 มีการวางแผนจะนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาใช้ในอีก 3 ปี และมีเพียงแค่ร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีการใช้เอไออย่างกว้างขวางและเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานในองค์กร

ปัญหาหลักที่ทำให้บริษัทจำนวนมากในอาเซียนไม่เลือกใช้เทคโนโลยีเอไอ มาจากปัญหา "ช่องว่างทางทักษะ” โดยปัญหานี้ทำให้บริษัทไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้เต็มศักยภาพกับที่ลงทุน เพราะบุคลากรไม่มีความชำนาญเพียงพอ อีกทั้งการอบรมและเพิ่มทักษะพนักงานต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาเรียกทุนคืนนาน

นายศิระ ปิดท้ายด้วยการฝากถึงกุญแจสำคัญ 3 ดอก ในการต่อยอดธุรกิจในอนาคตคือ (1) การพัฒนาทักษะแรงงาน เพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญที่สุดในทุกองค์กร (2) การใช้เทคโนโลยีอย่างมีคุณภาพ คือใช้เพื่อการตอบสนองความต้องการของบุคคลและสังคม (3) ไม่มองที่ผลประกอบการอย่างเดียว

"เพราะการเติบโตของบริษัทไม่ได้ดูแค่ยอดเงินปัจจัยเดียว แต่ควรมองถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย" นายศิระ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :