ไม่พบผลการค้นหา
ทำความรู้จักกับ เอ็ดดี้ วู (Eddie Woo) นักคณิตศาสตร์จากประเทศออสเตรเลียวัย 34 ปี ที่ปักหลักสอนคิดคำนวณอยู่ในเมืองซิดนีย์ ทว่านอกเหนือจากอาชีพการเป็นครูแล้ว ปัจจุบันเขายังเป็นครีเอเตอร์บนยูทูบ (YouTube) ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 500,000 คน และยอดการเข้าชมรวมถึง 27,000,000 ครั้ง

ด้วยวิธีการสอนที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ บวกกับคลิปเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์ ส่งผลให้วูกลายเป็นที่ชื่นชอบของเด็กนักเรียนหลายคน ทว่าคุณครูชื่อดังก็ยอมรับมาตลอดว่า คนจำนวนมากในโลกมองคณิตศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่สำหรับเขาเชื่อมั่นเสมอว่า คณิตศาสตร์ยังมีแง่มุมดีๆ ที่เหมาะกับทุกคนซุกซ่อนอยู่

“ผมรักการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เพื่อค้นหาแง่มุมที่ใครๆ อาจคาดไม่ถึงของคณิตศาสตร์ อย่างห้องประชุมของมหาวิทยาลัยที่นั่งคุยกันอยู่ก็เป็นสิ่งสวยงามจากการคิดคำนวณของสถาปนิก”

นักคณิตศาสตร์สัญชาติออสเตรเลียกล่าวต่อว่า สำหรับเขาคณิตศาสตร์คือ จักรวาลอันยิ่งใหญ่ และเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมายให้ค้นหา

“ผมคงจะเกลียดดนตรีถ้าเพลงประเภทเดียวที่เคยฟังมาคือ คลาสสิค ทั้งๆ ที่ยังมีป็อป ร็อก แร็ป หรือดั๊บสเตป เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เช่นเดียวคณิตศาสตร์ มันไม่ได้มีแค่แกนเอ็กซ์ (x) หรือแกนวาย (y) คุณต้องค้นหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง เหมือนกับดนตรีที่มีอีกหลายแง่มุมให้เข้าไปสัมผัส”

เอ็ดดี้ วู.jpg
  • เอ็ดดี้ วู ครูสอนคณิตศาสตร์ชาวออสเตรเลีย วัย 34 ปี

คุณครูผู้ยิ่งใหญ่ มาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง 

การสอนคณิตศาสตร์เป็นการแก้ปัญหา หรือโจทย์ แม้ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาข้อเดียวกัน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะแก้สมการออกมาลักษณะเดียวกัน แน่นอนว่า คนทั่วไปมักแก้ปัญหาด้วยการเลือกวิธีง่ายสุด และจดจำวิธีการนั้นๆ ไปตลอดชีวิต แต่เมื่อรับบทบาทผู้สอนคณิตศาสตร์ คุณครูวูไม่สามารถเลือกเพียงวิธีการเดียวได้

“หนึ่งในสิ่งที่แยกระหว่างครูธรรมดา และครูผู้ยิ่งใหญ่ออกจากกัน คือการอธิบายมากกว่าหนึ่งวิธี การยกตัวอย่าง และภาพประกอบ 1 รูป ไม่สามารถทำให้นักเรียนทุกคนเข้าใจได้เหมือนกัน ครูต้องหาวิธีการอธิบายอันหลากหลาย เช่น วิดีโอ หรือยกทั้งชั้นออกนอกห้องเรียน เพื่อแสดงให้เห็นชีวิตจริง”

ครูผู้ยิ่งใหญ่จะเต็มไปด้วยวิธีสอนอันหลากหลาย ในชั้นเรียนประกอบด้วยเด็กจำนวนมาก และความต้องการแตกต่างกัน

เหรียญทองจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ที่บรรดานักเรียนไทยมักครอบครองกันเป็นประจำจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ทว่าไม่ค่อยปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์เท่าไหร่ คือเรื่องน่ายินดี และน่าเป็นห่วงอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาไทย ซึ่งคุณครูวูบอกด้วยว่า เรื่องทำนองเดียวกันนี้กำลังเกิดกับทุกประเทศ 

“ทั่วโลกกำลังประสบกับสถานการณ์เดียวกัน เมื่อนักเรียนจำนวนหนึ่งสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ระดับสูง แต่ส่วนที่เหลือประสบปัญหากับการทำความเข้าใจ แม้เรียนอยู่ห้องเดียวกันก็ตาม เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับวิธีการสอน ส่วนตัวผมพยายามทำให้แน่ใจว่า นักเรียนจะสามารถจดจำความรู้จากอดีตได้อย่างครบถ้วน เพื่อเตรียมตัวสำหรับความรู้ชุดถัดไป 

แต่มันมักเป็นอย่างที่คาดการณ์คือ มีนักเรียนแค่เพียงไม่กี่คนสามารถจำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์ เด็กส่วนหนึ่งไม่พร้อมสำหรับความรู้ชุดใหม่ เพราะไม่มีรากฐานดีพอ ซึ่งทำให้พวกเขาห่างไกลจากนักเรียนที่ประสบความสำเร็จไปเรื่อยๆ”


บอกลาครั้งประถม กลับมาคบตอนมัธยมได้ไหม?

นักเรียนจำนวนมากไม่สามารถผูกมิตรกับคณิตศาสตร์ได้ในชั้นมัธยมฯ สาเหตุเกิดจากความไม่เข้าใจจนลาขาดกันตั้งแต่ระดับประถมฯ อย่างไรก็ตาม วูแนะนำว่า ถ้าอยากกลับมาคืนดีอีกครั้ง คุณต้องย้อนกลับไปหาวันที่ทะเลาะกันครั้งแรก 

“ต้องย้อนกลับไปถึงสิ่งที่คุณเข้าใจเรื่องสุดท้าย เพื่อแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่งั้นจะคล้ายกับการต่อยอดตึกที่มีรากฐานอ่อนแอขึ้นไปเรื่อยๆ

ถ้าไม่เข้าใจตรีโกณมิติไม่สำคัญเลยว่าจะศึกษาแคลคูลัสหนักแค่ไหน เพราะพื้นฐานคือสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุด

บางครั้งปัญหาเกิดจากแรงจูงใจ นักเรียนไม่เห็นภาพว่าการมองพีชคณิตให้ทะลุปรุโปร่ง จะส่งผลอย่างไรต่อพวกเขา แต่เมื่อเริ่มทำแผนภูมิค่าใช้จ่าย คณิตศาสตร์กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พวกเขามีทักษะในการออมสำหรับของที่อยากได้ หน้าที่ของครูคือเชื่อมโยงบริบทที่น่าสนใจเข้ากับคณิตศาสตร์”

แม้กฎกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ระบุให้นักเรียนทุกคนต้องเรียนพิเศษ แต่ก็คล้ายกับประเพณีนิยมที่ปฏิบัติกันอยู่เนืองนิจ วู มองว่าการไม่เข้าใจเนื้อหาในห้องเรียนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเรียนจะมองหาติวเตอร์ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจวิชาเรียนและพัฒนาทักษะได้มากยิ่งขึ้น 

“หนึ่งในคำแนะนำที่ผมมักจะมอบให้คือ นักเรียนต้องถามทันทีที่ไม่เข้าใจหรือกำลังสับสน บางครั้งนักเรียนในชั้นกระอักกระอ่วนที่จะยกมือเพราะคิดว่าเป็นคำถามที่ไม่ฉลาด หรือครูบางคนคิดว่านักเรียนควรจะเข้าใจตั้งแต่ต้น ทำให้การตั้งคำถามฟังดูไม่สมเหตุสมผล

เรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย 1. นักเรียนต้องเต็มใจที่จะถามแม้จะมองว่าเป็นคำถามที่น่าอาย แต่ถ้าทำตัวเหมือนเข้าใจดีอยู่แล้วและไม่เอ่ยปากผลเสียในระยะยาวจะตกอยู่ที่พวกเขา 2. ครูต้องทำให้นักเรียนรู้สึกสบายใจในการตั้งคำถาม ผมเข้าใจดีว่ามันเป็นเรื่องยาก ครูเป็นคนที่ยุ่งที่สุดในห้องเรียนและไม่สามารถตอบคำถามได้ทุกเวลา แต่อย่างน้อยพวกเขาต้องมีทัศนคติที่เปิดกว้างและยินดีสำหรับคำถามที่จะเกิดขึ้น 

อีกคำแนะนำสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองคือ ทรัพยากรทางปัญญาที่มีอยู่มากมายบนอินเทอร์เน็ต อย่างแรกผมคงจะชี้ไปที่ช่องของตัวเอง แต่ข้อดีของอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เพราะมันมีคำอธิบาย แต่เป็นเพราะมันมีคำอธิบายที่ต่างกันจากผู้สอนจำนวนมาก

เวลาอยู่ในห้องมืดยิ่งมีแสงสว่างคุณก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจน ทรัพยากรทางปัญญามีมากเท่าไรโอกาสของนักเรียนก็มากขึ้นเท่านั้น
เอ็ดดี้ วู 1.jpg
  • ชาแนล Eddie Woo เผยแพร่อยู่บนยูทูบ มีผู้ติดตามกว่า 500,000 คน และยอดผู้ชมรวมถึง 27,000,000 ครั้ง

หลักการไม่เปลี่ยนแปลง แค่วิธีการนำเสนอเปลี่ยนไป 

ครูวูบอกว่า มนุษย์กำลังก้าวเข้าสู่โลกที่ทุกอย่างถูกตีกรอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ และอัลกอริทึม สิ่งเหล่านี้ออกแบบ และแทรกแซงความเป็นอยู่ของมนุษย์ทุกด้าน ซึ่งหากมองเผินๆ คล้ายกับจะดึงคณิตศาสตร์ออกจากมือของมนุษย์

“สัญญาณไฟจราจร การขึ้นลงของเครื่องบิน หรือแอปพลิเคชันทางการแพทย์ ทุกอย่างเต็มไปด้วยอัลกอริทึม เวลาคอมพิวเตอร์แนะนำสิ่งต่างๆ ที่ส่งผลต่อการกระทำของมนุษย์ ผมต้องมีความสามารถในการตั้งคำถาม และไม่ปักใจเชื่อง่ายๆ ซึ่งสิ่งที่คุณทำได้ก็คือ ‘การเรียนรู้’ เพื่อค้นหาว่าอะไรอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านั้น”

เมื่อเทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว หน้าตาของห้องเรียนก็ต้องเปลี่ยนไป ซึ่งวูเท้าความถึงอดีตด้วยรอยยิ้มว่า มีผู้คนจำนวนมากพยายามทำนายหน้าตาห้องเรียนในอนาคต แต่กลับไม่มีใครเคยทายถูก สิ่งที่เขาพอบอกได้คือ ‘ไม่มีทางเหมือนเดิม’

“ศตรวรรษที่แล้วมนุษย์เพิ่งรู้จักจำนวนประกอบ และจำนวนเฉพาะ เราใช้ทฤษฎีนี้สำหรับเล่นสนุก และพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่วันนี้จำนวนเฉพาะถูกใช้เพื่อการเข้ารหัสบัตรเครดิต หรือสำหรับข้อมูลที่หลากหลายบนอินเทอร์เน็ต ผมไม่มีทางบอกได้ว่า คณิตศาสตร์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่หน้าตาของมันเปลี่ยนไปแน่นอน”

คณิตศาสตร์อยู่เหนือกาลเวลา สิ่งที่เปลี่ยนคือ ‘วิธีใช้’ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพิสูจน์ว่า ทฤษฎีถูกต้อง มันจะถูกไปตลอดกาล

ก่อนบทสนทนาสิ้นสุดลง วูบอกว่า ถ้าเปิดตาให้กว้าง และมองรอบด้านจะเห็นว่าคณิตศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องน่าสนใจ และกำลังหมุนรอบตัวคุณ

“ข้อเสนอแนะของผมสำหรับนักเรียนไทยที่อยากจะรู้จักคณิตศาสตร์ให้มากขึ้น คือการเปิดตา เพื่อมองโลกรอบข้าง และมองหาลวดลายของตัวเลขที่ซ่อนอยู่ในก้อนเมฆ ต้นไม้ หรือการสั่งอาหาร ล้วนมีแง่มุมของคณิตศาสตร์แฝงอยู่ทั้งสิ้น 

คณิตศาสตร์อยู่ในมุมอับจนบางครั้งถูกมองข้าม แต่เปิดกว้างสำหรับคนที่ยินดีจะค้นหา ไม่สำคัญหรอกว่าสิ่งที่คุณสนใจคืออะไร เปิดตาของคุณไว้แล้วจะเห็นคณิตศาสตร์ในทุกที่”