ไม่พบผลการค้นหา
บทความว่าด้วยความขัดแย้ง-ความตาย-ไร้ความสงบ ณ ดินแดนที่ไทยไม่คุ้นชิ้น จาก 'ปั๊ป-พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์' ผู้ก่อตั้งเพจ The Wild Chronicles

ช่วงปลายกันยายนถึงต้นพฤศจิกายน 2020 ขณะที่ทั่วโลกกำลังวุ่นวายกับปัญหาโรคระบาด และประเด็นเศรษฐกิจ ได้เกิดวิกฤตอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีการพูดถึงไม่มากคือสงครามระหว่างอาร์เมเนียและอาร์เซอร์ไบจานในพื้นที่พิพาทนามว่า “อาร์ตซัค” (Artsakh) หรือ “นาร์กอโน-คาราบัค” (Nagorno-Karabakh)

ลงท้ายอาร์เซอร์ไบจานเป็นฝ่ายชนะ สามารถยึดพื้นที่อาร์ตซัคไปได้มากมาย

az-ar-comparison-en-copy.jpg
  • แผนที่เปรียบเทียบอาร์ตซัค(สีม่วง) ก่อน(ซ้าย)และหลัง(ขวา)เกิดสงคราม

การปะทะครั้งนี้กินเวลาเพียงเดือนเศษ แต่ทำให้ชาวอาร์ตซัคเสียชีวิตลงราว 5,000-7,000 ราย บาดเจ็บอีกนับหมื่น ถูกจับตัวไปเป็นเชลยกว่า 200 คน ทั้งยังกลายเป็นผู้อพยพราว 20,000-60,000 คน

สำหรับดินแดนเล็กๆ อย่างอาร์ตซัคที่มีประชากรเพียง 150,000 คน มีขนาดใกล้เคียงกับจังหวัดน่านของไทย มหันตภัยนี้หนักหนาจนถึงขั้นเกือบสิ้นชาติ

...เสียงร้องด้วยความทุกข์ของพวกเขาจะดังไปได้ไกลแค่ไหน?

...ในเมื่อคนส่วนมากไม่เคยได้ยินชื่อพวกเขาด้วยซ้ำ


ประวัติศาสตร์ย่อของอาร์เมเนีย และ อาร์ตซัค

'อาร์ตซัค' เป็นส่วนหนึ่งของ 'อาร์เมเนีย' ซึ่งเมื่อราวพันปีก่อนเคยเป็นประเทศใหญ่ ต่อมาเมื่อเกิดสงครามระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม แล้วชาวมุสลิมเป็นฝ่ายชนะ อาร์เมเนียจึงค่อยๆ อ่อนแอลง และตกอยู่ในอำนาจอาณาจักรออตโตมันซึ่งปกครองโดยชาวเติร์กในที่สุด

เนื่องจากชาวอาร์เมเนียนับถือคริสต์ แต่รัฐบาลชาวเติร์กนับถือมุสลิมเลยมีความไม่ไว้ใจกัน นำไปสู่การจับคนอาร์เมเนียฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบในปี 1915 - 1917 หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

5ff06342-7a14-4ce6-89d2-c59a04deb676.jpg.pagespeed.ce.TIIxW8QUOp.jpg
  • ภาพทหารออตโตมันกำลังบังคับให้ชาวอาร์เมเนียเดินไปยังทุ่งสังหารนอกเมืองคาร์พุต (Kharput)
Bodies-Armenian-genocide-1915.jpg
  • ภาพร่างผู้เสียชีวิตที่นองกองบริเวณทุ่งหญ้ารอบพื้นที่ต่างของอาร์เมเนีย เป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในปี 1915

ครานั้น ชาวอาร์เมเนียไม่น้อยกว่า 600,000 ราย และอาจมากถึง 1.2 ล้านราย ถูกสังหารจนอาร์เมเนียแทบสูญหายไปจากโลก

ผ่านไปถึงปี 1920 - 1921 อาร์เมเนียถูกผนวกเป็นรัฐในการปกครองของสหภาพโซเวียต พร้อมกับอาร์เซอร์ไบจานและจอร์เจีย

ตอนนั้นโซเวียตฯ ได้ยกดินแดน อาร์ตซัค ของอาร์เมเนียให้อาร์เซอร์ไบจานเพื่อดำเนินนโยบายแบ่งแยกและปกครอง พร้อมสานมิตรภาพกับตุรกีเพราะคนอาร์เซอร์ไบจานเป็นคนเติร์กเช่นเดียวกับตุรกี

เมื่อถึงปี 1988 ชาวอาร์ตซัคประกาศออกมาว่า ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอาร์เซอร์ไบจาน อยากกลับไปรวมกับอาร์เมเนียมากกว่า ทำให้ต้องขัดแย้งกับอาเซอร์ไบจาน

ความขัดแย้งล่วงมาถึงปี 1991 ซึ่งสหภาพโซเวียตล่มสลาย อาร์เมเนียกับอาร์เซอร์ไบจานต่างประกาศเอกราช และพวกเขาต่างอ้างสิทธิในอาร์ตซัค

  • สงครามครั้งที่ 1

ชาวอาร์ตซัคทำประชามติ สรุปผลว่าอยากเป็นอิสระ จึงต้องรบกับอาเซอร์ไบจาน เกิดเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างสองฝั่ง เรียกว่า “สงครามนาร์กอโน-คาราบัค ครั้งที่ 1” ซึ่งกินเวลายาวนานถึงปี 1994

แม้อาร์เมเนียจะชนะ ได้อาร์ตซัคกลับไปอยู่กับตัวเอง แต่สหประชาชาติไม่ยอมรับ ทำให้อาร์เมเนียขัดแย้งกับอาเซอร์ไบจานซึ่งเป็นชาติใหญ่กว่ามาตลอด

จนถึงทุกวันนี้ อาร์ตซัค และ อาร์เมเนีย ใช้สกุลเงินร่วมกัน ชาวอาร์ตซัคใช้หนังสือเดินทางอาร์เมเนียในการเดินทางออกนอกประเทศ การที่พวกเขายังไม่รวมกันโดยสมบูรณ์ เพราะไม่อยากให้นานาชาติมองว่าอาร์เมเนียไปผนวกดินแดนจากอาเซอร์ไบจาน

  • สงครามครั้งที่ 2

ตามที่กล่าวว่าอาร์เซอร์ไบจานกระทบกระทั่งกับอาร์เมเนียมาตลอด กระทั่งปลายปี 2020 จึงเกิดสงครามใหญ่ เรียกว่า “สงครามนาร์กอโน-คาราบัค ครั้งที่ 2” อาเซอร์ไบจานได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีจากตุรกี ทำให้รบชนะอาร์เมเนียโดยง่าย สามารถตีชิงพื้นที่ในภูมิภาคดังกล่าว กลับเป็นของตนถึง 75%   ปัจจุบันรัสเซียได้เข้ามาช่วยเหลือในการเจรจาหยุดยิงระหว่างอาร์เมเนียอาเซอร์ไบจาน และยังส่งทหารมารักษาความสงบในดินแดนดังกล่าวอยู่   แม้ได้รัสเซียเข้ามาช่วยคุ้มกัน แต่พวกเขาก็อยู่เฉพาะจุดสำคัญๆ ทำให้กองกำลังป้องกันตัวเองของอาร์ตซัคต้องทำงานหนัก เพราะพื้นที่น้อยลง แต่ชายแดนกลับกว้างขึ้น

  • เขตไซอุนิก

ปัจจุบันทัพอาเซอร์ไบจานยังได้ยกทัพล่วงเข้าเขตไซอุนิกของอาร์เมเนีย เป็นระยะ 3.5 กิโลเมตร

เขตไซอุนิกมีความสำคัญเพราะเป็นจุดที่กั้นแผ่นดินใหญ่อาเซอร์ไบจานกับเขตนัคชีวัน ซึ่งเชื่อมตรงกับตุรกี การรุกคืบนี้อุกอาจมาก เพราะเป็นดินแดนอาร์เมเนียที่ไม่ใช่ดินแดนพิพาทอาร์ตซัคด้วยซ้ำ

รัฐบาลอาร์มีเนียพยายามประท้วงสิ่งนี้ แต่อย่างที่เราเห็นว่าไม่ค่อยมีพื้นที่ข่าวเท่าไร เพราะเรื่องนี้เกิดในประเทศเล็ก   ชะตากรรมของชาวอาร์ตซัคยังอยู่กับความไม่แน่นอน ตุรกียังสนับสนุนอาเซอร์ไบจานอยู่เสมอ รัสเซียมีกำหนดอยู่ที่นี่ต่อเพียง 5 ปี ต่อจากนั้นไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร

Picture12.png

เรื่องราวของชายชื่อ 'กาเรน'

กาเรน เป็นชาวอาร์เมเนีย เกิดในไซปรัส (ไซปรัสเป็นหนึ่งในประเทศที่ชาวอาร์เมเนียอพยพหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปอยู่) เขาเคยเป็นนักข่าวและครูสอนรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่บ้านเกิด ก่อนผันตัวมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย

แม้จะรักเมืองไทย แต่เมื่อเกิดสงครามขึ้น เขาจึงเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อดูว่าสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

175913931_227113485855749_5971615052522308569_n.jpg
  • กาเรน

กาเรนแจ้งว่าในการเดินทางสู่อาร์ตซัคนั้น เขาได้พบด่านตรวจของทหารจำนวนมาก ทั้งทหารอาร์เมเนีย และรัสเซียที่เข้ามาช่วยรักษาความสงบ สองข้างทางที่ผ่านไปเรียงรายด้วยซากรถถัง สิ่งก่อสร้างปรักหักพัง และร่องรอยกระสุน

ประชาชนมากมายสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปในการปะทะ และยังคงต้องพยายามพิสูจน์ศพกันอยู่ บรรยากาศนั้นหดหู่มาก

ตามที่เกริ่นว่าชาวอาร์ตซัคกลายเป็นผู้อพยพหลายหมื่นคน ผู้อพยพเหล่านี้ บ้างก็หนีไปเยเรวานหรือที่อื่นในอาร์เมเนีย แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยังอยู่ในอาร์ตซัค โดยเฉพาะเมืองหลวงสเตฟานาเกิร์ต

2020-10-04T190224Z_1024865498_RC2VBJ9DQ4LK_RTRMADP_3_ARMENIA-AZERBAIJAN.JPG
  • ภาพอาคารบ้านเรือนในเมืองสเตฟานาเกิร์ตที่พังทลายจากการปะทะ

สถานการณ์ของอาร์ตซัคหลังจบสงครามนั้น ถึงจะไม่มีการปะทะใหญ่ เพราะรัสเซียคอยมาคุ้มกัน แต่ก็ใช่จะดี เพราะอาร์ตซัคยังคงถูกทหารอาร์เซอร์ไบจานล้อมอยู่

ในสงครามครั้งนี้ ทั้งอาร์เมเนียและอาร์เซอร์ไบจานต่างใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางข่มขวัญกัน โดยฝั่งอาร์เซอร์ไบจานรบชนะ เลยสามารถทับถมได้มากกว่า และมีการปล่อยคลิปอาชญากรรมสงครามออกมาเป็นจำนวนมาก

กาเรนแจ้งว่ามีคลิปคนแก่อาร์เมเนียไม่ยอมออกจากบ้านในเขตที่ถูกอาเซอร์ไบจานยึดครองเลยโดนตัวหัว และมีกรณีที่ลูกพยายามไปช่วยพ่อออกมา เลยโดนจับไปทรมานทั้งคู่ พร้อมโพสต์ลงโซเชียลประจาน

  • Artsakh Support Body (ASB)

เพื่อช่วยเหลือผู้คน กาเรนกับเพื่อนได้รวมกันตั้งองค์กรชื่อ Artsakh Support Body (ASB) ทำงานบรรเทาทุกข์คนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม

ช่วงแรกๆ องค์กรดังกล่าวทำการระดมทุนกันเองในหมู่เพื่อนกับคนรู้จัก จนปัจจุบันรัฐบาลอาร์เมเนียได้เข้ามาช่วยอีกแรง ทำให้งานไปต่อได้เรื่อยๆ

140552516_166259748607790_6826395663575902599_n.jpg

เป้าหมายสูงสุดของกาเรนคืออยากช่วยคนที่ลำบากในอาร์ตซัคให้อยู่ได้ด้วยตนเองและมีรายได้ เขาเริ่มดำเนินการซื้อลูกไก่แจกชาวบ้าน จะได้มีไข่หรือเนื้อไก่ให้กิน เพราะตอนนี้อาร์ตซัคเหลือพื้นที่ทำเกษตรไม่มาก อาณาเขตไม่ชัดเจน ยากจะหาทุ่งหญ้าเลี้ยงวัว และสัตว์ใหญ่อื่นๆ

สำหรับหมู่บ้านที่อากาศหนาวเย็น กาเรนอยากช่วยสร้างเรือนกระจกไว้ปลูกพืช และอยากสร้างสถานที่กักเก็บน้ำจากน้ำฝนหรือหิมะ เพราะการเกษตรถูกทำลายไปมาก

กาเรนยังมีงบไม่พอจึงอยากให้หน่วยงานรัฐหรือบุคคลภายนอกมาช่วยเหลือชาวอาร์ตซัคเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยผ่าน Artsakh Support Body หรือองค์กรการกุศลอื่นก็ได้ แต่สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ ไม่ใช่เงิน ทว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่นผู้เชี่ยวชาญในด้านการเกษตร ซึ่งถ้ายื่นมือมาช่วยพัฒนาอาร์ตซัคได้จะดีมาก


โอกาสของสันติภาพ

ในสงครามใดๆ ก็ตาม ฝ่ายโดนกระทำเพียงอย่างเดียวนั้นไม่มี ผมจึงถามกาเรนว่า เขาเห็นคนอาร์เมเนียทำอาชญากรรมสงครามบ้างไหม กาเรมยอมรับว่าคงมี เพราะสงครามครั้งนี้รุนแรง ย่อมมีคนบริสุทธิ์ตายไปทั้งสองฝ่าย

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่ทั้งสองชาติจะยอมกลับมาคืนดีกัน กาเรนมองว่าคงยาก เพราะต่างฝ่ายต่างสูญเสียไปมากเหลือเกิน พวกเขาไม่ใช่ไม่ชอบความสงบ แต่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกัน อยากแยกที่ใครที่มัน แต่เนื่องจากอาร์ตซัคเป็นดินแดนพิพาท แม้การแยกกันอยู่ก็เกิดขึ้นยากยิ่ง

ปัจจุบันประชาชนอาร์ตซัคยังคงโศกเศร้ากับความสูญเสีย พวกเขาเหน็ดเหนื่อย บอบช้ำ แม้คนส่วนมากก็ยังอยากอยู่อาร์ตซัคต่อ แต่ก็กลัวอันตราย มีเพียงแค่ศักดิ์ศรีและความหยิ่งทรนงที่ทำให้พวกเขายืนหยัดอยู่

กาเรนบอกว่าเด็กนั่นเองคือผู้ต้องทนทุกข์ที่สุด เพราะไม่อาจเข้าใจสิ่งรอบตัวได้เต็มที่

...เด็กๆ ไม่รู้ว่าทำไมสงครามถึงเกิด

...ไม่รู้ว่าทำไมต้องเผชิญเรื่องเลวร้ายขนาดนี้

มีเด็กคนหนึ่งชี้ให้กาเรนเห็นหมู่บ้านที่เขาจากมา และบอกว่า “บ้านผมอยู่ตรงนั้น ผมเคยอยู่ที่นั่น ผมอยากกลับบ้าน” เด็กชายเห็นภาพบ้านทุกวันแต่กลับไปไม่ได้ เพราะมันถูกทหารอาเซอร์ไบจานยึดอยู่ สำหรับเด็กเล็ก นี่เป็นสถานการณ์ที่แย่มาก

กาเรนยังเล่าว่า ครั้งหนึ่งขณะเขาและพวกได้นำของไปมอบให้หลายๆ โรงเรียน เขาได้เข้าไปสนทนากับเด็กๆ และพูดคุยด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?” แต่คำตอบนั้นกลับน่าสะเทือนใจ


"โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร"

เด็กหญิงอายุ 8 ขวบผุดลุกขึ้นตอบว่า “สไนเปอร์ค่ะ!”

เด็กชายอีกคนบอกว่า “เป็นทหารครับ!”

เด็กชายอีกคนสมทบ “เป็นผู้รักษาสันติภาพ (หมายถึง Peacekeeper ของรัสเซีย) จะได้หยุดสงครามครับ”

“มันไม่มีตัวอย่างอื่นนอกจากอาชีพในสงคราม” กาเรนกล่าว เขาเห็นว่าเด็กเหล่านี้สามารถถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่งความเกลียดชังได้ง่าย เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

วันนี้เด็กทั้งหลายถูกห้ามไม่ให้เล่นที่หลังโรงเรียนเพราะอาจมีทุ่นระเบิดจากการสู้รบฝังอยู่ อาคารเรียนเองก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งแปลว่าโรงเรียนตกเป็นเป้าหมายการโจมตีไปด้วย

2020-10-07T000000Z_565685023_RC2LDJ9KPI54_RTRMADP_3_ARMENIA-AZERBAIJAN.JPG

กาเรนไม่ได้อยากให้คนอาร์เมเนียหรืออาร์ตซัคเกลียดคนอาร์เซอร์ไบจานต่อไปเป็นทอดๆ “แต่ก็ไม่รู้จะมองโลกในแง่ดีได้อย่างไร” เขากล่าว

สุดท้ายกาเรนฝากถึงคนไทยว่า เขาอยากให้คนรักกัน อย่าก่อสงคราม พัฒนาในส่วนที่ทำได้ ให้ไทยเป็นประเทศที่สวยงามต่อไป และสำหรับคนที่อยากช่วยเหลือชาวอาร์ตซัค สามารถติดต่อมาได้ทางเพจเฟซบุ๊ก เพราะยังมีคนลำบากอีกมากมายที่รอคอยความช่วยเหลือ อย่างน้อยที่สุดช่วยกระจายข่าวให้โลกได้รับรู้ว่ายังมีคนเผชิญความทุกข์เข็ญบนโลกใบนี้ก็ยังดี

เพราะสำหรับชนกลุ่มน้อยในประเทศเล็กๆ แล้ว เสียงแห่งความเป็นตายของพวกเขาเบาเป็นอย่างยิ่ง

หมายเหตุ : ผู้เขียนบทความชิ้นนี้คือ ปั๊ป-พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเพจ The Wild Chronicles - ประวัติศาสตร์ ข่าวต่างประเทศ ท่องเที่ยวที่แปลก

อ้างอิง; BBC, Britannica, DW, USHMM, History, University of Kent, Aljazeera, AP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;