ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานประกาศกฎอัยการศึก และเรียกเกณฑ์กำลังพลทั่วประเทศให้เตรียมพร้อมสู้รบ ด้านนานาชาติเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศยุติการปะทะโดยเร็วและหันหน้าเจรจาทันที

เมื่อ 27 ก.ย.2563 กองทัพอาร์เมเนียได้ยิงขีปนาวุธตอบโต้อาเซอร์ไบจาน โดยชี้ว่าเป็นการตอบโต้ที่กองทัพอาเซอร์ไบจานยิงเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ โดน 3 ลำ และทำลายรถถัง 3 คันของอาร์เมเนียในเขตปกครองตนเองนากอร์โน-คาราบัค หรือ สาธารณรัฐอาร์ทซัค ซึ่งเป็นรัฐอิสระในเขตประเทศอาเซอร์ไบจาน

ความตึงเครียดระหว่างประเทศเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงเมื่อปี 2559 โดยรัฐบาลอาร์เมเนียได้ประกาศกฎอัยการศึกและมีคำสั่งให้มีการเคลื่อนย้ายกำลังพลทั่วประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดสงคราม

ขณะที่รัฐบาลอาเซอร์ไบจานก็ประกาศกฎอัยการศึกเช่นกัน รวมทั้งได้เรียกระดมกำลังทหารจากบางส่วนของประเทศ พร้อมทั้งประกาศให้บุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเตรียมพร้อมที่จะต้องสู้รบหากเข้าสู่ภาวะสงคราม

000_8QV8C2.jpg
  • นายอิลฮัม แอลีเยฟ ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจานออกมาประกาศให้ประชาชนพร้อมเข้าสู่ภาวะสงคราม

การสู้รบระหว่างกองทัพอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 ก.ย. มีการประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 23 ราย ขณะที่เขตปกครองตนเองนากอร์โนฯ สูญเสียทหารไปแล้ว 16 นาย และบาดเจ็บอีกกว่า 100 ราย นับตั้งแต่อาเซอร์ไบจานโจมตีทางอากาศและยิงปืนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว

ความขัดแย้งที่ยาวนาน

ในช่วงปีทศวรรษ 1920 รัฐบาลสหภาพโซเวียตได้สถาปนาเขตปกครองนากอร์โน-คาราบัค โดยประชากรในดินแดนดังกล่าว 95% ชาวอาร์เมเนีย แต่ทั้งนี้ดินแดนดังกล่าวอยู่ในเขตของประเทศอาเซอร์ไบจาน

เมื่อปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลนากอร์โน-คาราบัคมีมติเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เมเนีย แม้ว่าดินแดนของเขตปกครองตนเองดังกล่าวอยู่ในเขตแดนอาเซอร์ไบจาน ต่อมาในปี 2534 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายเขตปกครองตนเองนากอร์โน-คาราบัค ได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ พื้นที่ของเขตการปกครองตนเองนากอร์โน-คาราบัคถือเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน แต่ชาวอาร์เมเนียซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่นั้นปฏิเสธการปกครองของรัฐบาลอาเซอร์ไบจานและได้สถาปนาการปกครองตนเอง ซึ่งมีรัฐบาลอาร์เมเนียเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานเหนือพื้นที่เขตปกครองตนเองนากอร์โนฯ ในช่วงทศวรรษ 1990 โดยกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนอาร์เมเนียได้ยึดพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยในอาเซอร์ไบจานและพื้นที่ใกล้เคียงได้ถึง 7 เขต 

การแย่งชิงพื้นที่และการสู้ระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและรัฐบาลอาเซอร์ไบจานในช่วงเวลาดังกล่าวได้คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 30,000 ราย และประชาชนอีกหลายแสนคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และมีการยุติการยิงชั่วคราวในปี 2536 แต่การเจรจาสันติภาพกลับล้มเหลว ส่งผลให้มีการปะทะกันเป็นระยะๆ ในเวลาต่อมา

การปะทะกันในเดือน เม.ย.ปี 2559 เป็นการปะทะกันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี และมีผู้เสียชีวิตหลายราย และมีความพยายามในการเจรจาสันติภาพอีกครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ 

000_8QV8MQ.jpg
  • การปะทะระหว่างกองทัพอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน

ปฏิกิริยาจากนานาชาติ

การปะทะกันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานในเขตปกครองตนเองนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นการเผชิญหน้าครั้งสำคัญระหว่างชาวมุสลิมของอาเซอร์ไบจานและชาวคริสต์ อาร์เมเนีย โดยมีความเกี่ยวโยงไปถึงรัสเซียและตุรกี ที่เป็นผู้สนับสนุนทั้งสองประเทศอยู่เบื้องหลัง

27 ก.ย. ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา อิหร่าน ตุรกี รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สหภาพยุโรป รวมถึงวาติกันได้ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศหันหน้ามาเจรจาและยุติการสู้รบกันโดยเร็ว 

ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯออกแถลงการเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายยุติการสู้รบโดยทันที และยังเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศหันหน้าเจรจากันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่บานปลาย รวมถึงการกระทำต่างๆ ที่ไม่อาจก่อให้เกิดประโยชน์

“สหรัฐฯ เชื่อว่าความรุนแรงที้เกิดขึ้นโดยมีกลุ่มจากภายนอกจะไม่ช่วยลดความขัดแย้งและยิ่งขยายความขัดแย้งในภูมิภาคให้รุนแรงยิ่งขึ้น” แถลงการณ์ระบุ

ด้านอิหร่านยังได้เสนอตัวช่วยในการจัดการเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศ โดยอิหร่านระบุว่า พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถในการเจรจาเพื่อยุติและลดความตึงเครียดระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน

ขณะที่ตุรกี พันธมิตรข้างอาเซอร์ไบจานได้ออกมาประณามการกระทำของอาร์เมเนีย ซึ่งชี้ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและแสดงให้เห็นว่าอาร์เมเนียไม่สนใจสร้างสันติภาพ

นอกจากนี้ อาเซอร์ไบจานยังเรียกร้องให้ชาวอาร์เมเนียลุกขึ้นต่อต้านการกระทำของรัฐบาลตนเอง โดยชี้ว่ารัฐบาลอาร์เมเนียกำลังใช้ประชาชนเป็นหุ่นเชิดในการสู้รบ รวมถึงเรียกร้องให้ทั่วโลกยืนหยัดสู้รบข้างอาเซอร์ไบจาน

ด้านรัสเซีย พันธมิตรของอาร์เมเนียก็ออกมาเรียกร้องให้ยุติการสู้รบและให้ทั้งสองประเทศกลับเข้าสู่การเจรจากันอีกครั้งเช่นกัน

ที่มา BBC / Reuters / Daily Sabah / CFR / Aljazeera