ประเทศไทยในปี 2563 เป็นปีแห่งการเผชิญสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์ของโรคมีกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในหลายด้านอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ขณะที่สถานการณ์การเมืองไทย เกิดจุดกระเพื่อมใหญ่ตั้งเเต่ต้นปี ด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่ และกระแสแฟลชม็อบกระจายในหลายสถานศึกษา ก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่ทั้งประเทศเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์เกือบตลอดช่วงครึ่งปีแรก
ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง การชุมนุมประท้วงของกลุ่มราษฎรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและคึกคัก ด้วยข้อเรียกร้องในระดับ ทะลุเพดาน ขณะที่โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ในช่วงก่อนสิ้นปี
วอยซ์ รวบรวมภาพข่าวที่น่าจดจำในรอบปี 2563 มาให้ชมกันอีกครั้ง
(16 ต.ค.2563) ผู้ชุมนุมหลบน้ำแรงดันสูง บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม ในระหว่างการสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน ซึ่งสถานการณ์เป็นไปด้วยความตึงเครียด โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
(11 ก.พ. 2563) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผู้บัญชาการทหารบก มีน้ำตาระหว่างแถลงข่าวกรณีกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ว่าในฐานะ ผบ.ทบ. ขอโทษและขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งจากเหตุการณ์ครั้งนี้เพราะผู้ก่อเหตุเป็นกำลังพลของกองทัพบก พร้อมทั้งสัญญาว่าจะให้มีการสังคายนาปัญหาภายในกองทัพ
(21 ก.พ. 2563) แกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรค เนื่องจากผิดตามกฎหมายกรณีกู้เงิน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาท ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
(28 ก.พ. 2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ขึ้นลิฟต์ไปยังห้องประชุมสภาผู้เเทนราษฎร ในการการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ทั้งนี้ภายหลังที่ประชุมสภา ฯ มีมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
(13 มี.ค.2563) ผู้ร่วมเดินรณรงค์เดินผ่านหน้ากองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ถ.ทหาร ในกิจกรรมที่จัดโดยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับเครือข่าย People Go และเครือข่ายนิสิต นักศึกษาจากหลายสถาบัน ร่วมกันเดินขบวนจากรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกำแพงเพชร ไปยังรัฐสภา เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญที่ตนต้องการ
(19 มี.ค. 2563) ทีมปฏิบัติการล้างสิ่งปนเปื้อน ฉีดล้างพื้นถนน บริเวณ ถ.หน้าพระลาน พระบรมมหาราชวัง โดยเป็นการปฏิบัติการของกองทัพบกสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล เพื่อขจัดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ในพื้นที่ กทม.
(24 มี.ค. 2563) พนักงานบริการส่งอาหาร นั่งรอรับสินค้าภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า ซึ่งทางศูนย์การค้าได้จัดเก้าอี้บริการโดยเว้นระยะห่างประมาณ 1 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19
(13 พ.ค. 2563) พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่หน้าวัดนิเทศราษฎร์ประดิษฐ์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี สวมใส่หน้ากากผ้าสีแดงทำจากจีวรพระ เพื่อเตือนสติให้ญาติโยมที่สัญจรผ่านไปมาสวมใส่หน้ากากป้องกันตนเองในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
(13 ส.ค. 2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และรัฐมนตรีช่วยกันประคอง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลุกจากเก้าอี้ภายหลังเสร็จสิ้นการถ่ายภาพหมู่ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
(2 ต.ค.2563) นักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของตนเองด้วยการกางร่ม ระหว่างรอขบวนรถแห่ของกลุ่ม "นักเรียนเลว" ที่จะเดินทางมาทำกิจกรรมเรียกร้องประเด็นปัญหาเกี่ยวกับโรงเรียน
การขับเคลื่อนข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาที่นำโดยกลุ่มนักเรียนเลว นับเป็นภาพแทนขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของเยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่กล้าจะแสดงออกมากขึ้นมากกว่าในอดีต
(14 ต.ค.2563) พื้นถนนเลอะด้วยสี ขณะที่ชลธิชา แจ้งเร็ว กำลังยืนเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่ง ภายหลังเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวนักศึกษาและประชาชน 21 คน ที่มาปักหลักกางเต็นท์หน้าแม็คโดนัลด์ ถนนราชดำเนิน เพื่อค้างคืนรอชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค.
(19 ต.ค.2563) ผู้ชุมนุมชูสามนิ้ว ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มราษฎร บริเวณแยกเกษตร
(21ต.ค. 2563) ผู้ชุมนุมฝ่ายกลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่าแนวแผงเหล็กและกำลังตำรวจ ก่อนเข้าไปใกล้กลุ่มนักศึกษาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ที่กำลังจัดเตรียมการชุมนุมอยู่บริเวณหน้าสำนักงานอธิการบดี จนเกิดกระทบทั่งกัน
(1 พ.ย. 2563) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร หาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทักทายประชาชนที่มารอเฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิด ที่ด้านหน้าพระบรมหาราชวัง ภายหลังปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการเปลี่ยนเครื่องทรงถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากฤดูฝนเป็นเครื่องทรงฤดูหนาว ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นการทักทายประชาชนอย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่งในช่วงที่มีกระแสเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จากผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร
(2 พ.ย. 2563) อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และแกนนำกลุ่มราษฎร ถูกนำตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาเบิกความที่ศาลแขวงดุสิต ถ. นครไชยศรี ในคดีฉายโฮโลแกรม ลบยังไงก็ไม่ลืม และอ่านประกาศคณะราษฎรในวันที่ 24 มิ.ย. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
(25 พ.ย. 2563) เด็กวิ่งหน้าแนวกำแพงตู้คอนเทนเนอร์ขณะที่มาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับครอบครัว บริเวณถนนสามเสน หน้าธนาคารแห่งประเทศไทย โดยตำรวจและทหารได้นำตู้คอนเทนเนอร์ และลวดหนามปิดการจราจรหลายจุดเพื่อเตรียมพร้อมรับกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรที่แจ้งจะทำกิจกรรมที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศย้ายสถานที่เป็นธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน
(27 พ.ย. 2563) เป็ดเหลือง หรือเป็ดยางพร้อมด้วยตุ๊กตาเอเลี่ยนเป่าลมหลายชิ้น ถูกนำเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ในการชุนุมของกลุ่มราษฎร ภายใต้ชื่อเพื่อ “ซ้อมต้านรัฐประหาร” โดย “เป็ดเหลือง” กลายมาเป็นสัญลักษณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎร หลังการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา
ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 มีเหตุการณ์อย่างน้อย 5 ครั้งทั่วโลก ที่นำเป็ดยางมาเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อสะท้อนปัญหาสังคมอย่างการคอร์รัปชั่น เสรีภาพ รวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย
(11 ธ.ค. 2563) ผู้ใช้รถจักรยานยนต์เลี้ยวกลับ ขณะที่มีตู้คอนเทนเนอร์ 2 ชั้นพร้อมรั้วลวดหนามถูกวางเป็นกำแพงบริเวณหน้าศาลหลักเมือง เพื่อป้องกันเขตพระราชฐาน สืบเนื่องจากกิจกรรมการชุมนุมของกลุ่มราษฎรและเครือข่ายประชาชนเมื่อ 10 ธ.ค.
(15 ธ.ค. 2563) ทัศนียภาพกรุงเทพมหานครท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานกว่า 54 พื้นที่ในเขต กทม.