ไม่พบผลการค้นหา
เปิดประวัติ 8 นายกฯ ที่เคยควบ รมว.การคลัง หลังประเทศมีนายกฯ ควบขุนคลังเป็นครั้งแรกในรอบ 43 ปี โดย 'เศรษฐา ทวีสิน' คือนายกฯ คนล่าสุดที่ควบเก้าอี้ รมว.การคลัง

1.

พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เคยควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) การคลัง อยู่ 2 สมัย คือ ครม.คณะที่ 2 ช่วงแรกระหว่างวันที่ 10 ธ.ค. 2475 - 1 เม.ย. 2476 และสมัยที่2 ครม.คณะที่ 3 คือ 1 เม.ย. 2476 - 24 มิ.ย. 2476 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ถือเป็น รมว.การคลังคนแรกของประเทศไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ และมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก้อน n_Hutasing.jpg

โดยก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เคยนั่งตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ช่วงระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. 2475- 10 ธ.ค. 2475

โดยประวัติของ "ก้อน หุตะสิงห์" เกิดวันที่ 15 ก.ค. 2427 ที่จังหวัดพระนคร บุตรของนายฮวด กับ แก้ว หุตะสิงห์ สมรสกับคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา (นิตย์ สามเสน) ถึงอสัญกรรม ณ ที่นั้น เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2491 รวมอายุได้ 64 ปีเศษ

พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ใน ครม.คณะที่ 1 ดำรงตำแหน่งวันที่ 28 มิ.ย. 2475 โดยมติสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่งวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร (10 ธ.ค. 2475) 

ครม.คณะที่ 2 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อวันที่10 ธ.ค. 2475 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 1 เม.ย. 2476 โดยพระราชกฤษฎีกาให้ปิดสภาผู้แทนและตั้ง ครม. ชุดใหม่ 

ครม.คณะที่ 3 ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่3 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2476 โดยพระราชกฤษฎีกา พ้นจากตำแหน่งวันที่ 21 มิ.ย. 2476 โดยรัฐประหารนำโดยพ.อ.พระยาพหลพลพยุเสนา

 2.

พระยาพหลพล.jpg

"พจน์ พหลโยธิน" พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2430 เวลา 03.30 น. ณ บ้านหน้าวัดบูรณะ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (ถิ่น พหลโยธิน) กับ คุณหญิงจับ สมรสกับ ท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา ถึงแก่อสัญกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2490 รวมอายุได้ 60 ปี

เป็นนายกรัฐมนตรีครม.คณะที่ 4 ดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2476 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร นรม.พ้นจากตำแหน่งวันที่ 16 ธ.ค. 2476 โดยลาออกเพราะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ประเภท 1 วันแถลงนโยบาย 26 มิถุนายน 2476

ครม.คณะที่ 5 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 16 ธ.ค. 2476 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 22 ก.ย. 2477 โดยลาออก เพราะสภาไม่อนุมัติสนธิสัญญาจำกัดยางของรัฐบาล วันแถลงนโยบาย 25 ธันวาคม 2476

ครม.คณะที่ 6 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 22 ก.ย. 2477 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 9 ส.ค. 2480 โดยลาออก เพราะกระทู้เรื่องขายที่ดินพระคลังข้างที่ วันแถลงนโยบาย 24 กันยายน 2477

ครม.คณะที่ 7 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 9 ส.ค. 2480 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 21 ธันวาคม 2480 โดยสภาครบวาระมีการเลือกตั้งทั่วไป วันแถลงนโยบาย 11 สิงหาคม 2480

ครม.คณะที่ 8 ดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2480 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 16 ธันวาคม 2481 โดยรัฐบาลยุบสภา11 ก.ย. 2481 เลือกตั้งทั่วไป วันแถลงนโยบาย 23 ธันวาคม 2480

ทั้งนี้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.การคลัง คนที่ 4 โดยดำรงตำแหน่งนายกฯ ควบ รมว.การคลัง ใน ครม.คณะที่ 6 ช่วง 1 ส.ค. 2478 - วันที่ 12 ก.พ. 2479

3.

ควง อภัยวงศ์ 095925000000.jpg

พ.ต.ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 พร้อมควบตำแหน่ง รมว.การคลัง คนที่ 8 ใน ครม.คณะที่ 11 เมื่อ 2 ส.ค. พ.ศ. 2487 - วันที่ 10 ม.ค. พ.ศ. 2488

พ.ต.ควง เกิดวันที่ 17 พ.ค. 2445 ณ เมืองพระตะบอง ประเทศเขมร (ขณะนั้นเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑลบูรพาของไทย) เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการจังหวัดพระตะบอง กับคุณหญิงรอด สมรสกับคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2511 รวมอายุได้ 66 ปี ประวัติการทำงาน รับราชการเป็นนายช่างผู้ช่วยโท แผนกกองช่างโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลข จนได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข

โดย พ.ต.ควง เคยดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกใน ครม.คณะที่ 11 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2487 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 31 ส.ค. 2488 โดยลาออก เพื่อให้ผู้เหมาะมาแทนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

ครม.คณะที่ 14 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 31 ม.ค. 2489 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 24 มี.ค. 2489 โดยลาออก เพราะแพ้มติสภาที่เสนอ พ.ร.บ.ที่รัฐบาลรับไม่ได้

ครม.คณะที่ 19 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันที่ 10 พ.ย. 2490 โดยมติคณะอภิรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งวันที่ 21 ก.พ. 2491 โดยมีการเลือกตั้งทั่วไป 

ครม.คณะที่ 20 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 21 ก.พ. 2491 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 8 เม.ย. 2491 โดยลาออก โดยถูกคณะรัฐประหาร (8 พ.ย.2490) บังคับให้ลาออก 

4.

ปรีดี พนมยงค์.jpg

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เคยนั่ง รมว.การคลัง คนที่ 6 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. พ.ศ. 2481 - 16 ธ.ค. 2484 ซึ่งการดำรงตำแหน่งครั้งนั้นยังไม่ได้รับตำแหน่งนายกฯ 

เมื่อปรีดีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 7 ยังทำหน้าควบตำแหน่ง รมว.การคลัง อยู่ 2 สมัย คือสมัยแรกใน ครม.คณะที่ 15 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2489 - 11 มิ.ย. 2489 และ ควบ รมว.การคลัง สมัยสอง ใน ครม.คณะที่ 16 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2489 - 23 ส.ค. 2489

โดย ปรีดี เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2443 ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียง กับ นางลูกจันทร์ พนมยงค์ สมรสกับท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ที่บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2526 รวมอายุได้ 83 ปี 

ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครม.คณะที่ 15 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2489 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร นรม.พ้นจากตำแหน่งวันที่ 11 มิ.ย. 2489โดยลาออก เพราะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489

ครม.คณะที่ 16 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 11 มิ.ย. 2489 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 23 ส.ค. 2489 โดยลาออก เพราะตรากตรำงานหนัก

5.

จอมพลแปลก ป พิบูลสงคราม.jpg

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 เคยควบตำแหน่ง รมว.การคลัง คนที่ 15 ใน ครม.คณะที่ 22 เมื่อวันที่ 13 ต.ค. พ.ศ. 2492 -วันที่ 18 ก.ค.พ.ศ. 2493

จอมพล แปลก ขีดตะสังคะ เกิดเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2440 ณ บ้านแพ ปากคลองบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของนายขีด กับนางสำอาง ขีดตะสังคะ สมรสกับท่านผู้หญิงละเอียด (พันธุ์กระวี) ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านพักที่ตำบลซากามิโอโน ซานกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2507 รวมอายุได้ 67 ปี 

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ใน ครม.คณะที่ 9 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2481 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 7 มี.ค. 2485 โดยลาออก เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงครม.ใหม่

ครม.คณะที่ 10 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 7 มีนาคม 2485 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร นรม.พ้นจากตำแหน่งวันที่ 1 สิงหาคม 2487 โดยลาออก เพราะสภาไม่รับ พรก.นครบาลเพ็ชรบูรณ์ วันแถลงนโยบาย 16 มี.ค. 2485

ครม.คณะที่ 21 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 8 เม.ย. 2491 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 25 มิ.ย. 2492 โดยสิ้นสุดลงเมื่อมีการเลือกตั้งส.ส. เพิ่ม

ครม.คณะที่ 22 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 25 มิ.ย. 2492 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 29 พ.ย. 2494 โดยรัฐประหารนำโดยพล.อ.ผิน ชุณหะวัณ 

ครม.คณะที่ 23 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 29 พ.ย. 2494 โดยมติคณะรัฐประหาร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 6 ธ.ค. 2494 โดยมีการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้นใหม่ 

ครม.คณะที่ 24 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 6 ธ.ค. 2494 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 24 มี.ค. 2495 โดย มีการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 (ส.ส.) 

ครม.คณะที่ 25 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 24 มี.ค. 2495 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 21 มี.ค. 2500 โดยส.ส.ครบวาระมีการเลือกตั้งทั่วไป

ครม.คณะที่ 26 ดำรงตำแหน่งนายกฯ วันที่ 21 มี.ค. 2500 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 16 ก.ย. 2500 โดย รัฐประหารนำโดย จอมพล สฤษดิ์ธนะรัชต์

6.

พจน์ สารสิน 0302115148000000.jpg

พจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 เคยควบตำแหน่ง รมว.การคลังคนที่ 19 ใน ครม.คณะที่ 27 เมื่อวันที่ 23 ก.ย. พ.ศ. 2500 - วันที่ 26 ก.ย. พ.ศ. 2500

สำหรับประวัติของ พจน์ เกิดเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2448 ที่บ้านพักถนนสุรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้) กับคุณหญิงสุ่น สมรสกับคุณหญิงศิริ สารสิน ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2543 สิริรวมอายุได้ 95 ปี 

ครม.คณะที่ 27 พจน์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐนตรี เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2500 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งนายกฯ วันที่ 1 มกราคม 2501 โดยมีการเลือกตั้งทั่วไป

7.

เกรียงศักดิ์ angsak_Chomanan_1976_(cropped).jpg

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 15 เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รมว.การคลัง คนที่ 28 ใน ครม.คณะที่ 41 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. พ.ศ. 2522 - วันที่ 11 ก.พ. พ.ศ. 2523

สำหรับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. พ.ศ. 2460 ที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรของนายแจ่ม กับนางเจือ ชมะนันทน์ สมรสกับคุณหญิงวิรัตน์ ชมะนันทน์ อสัญกรรม : เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. พ.ศ. 2546

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรกใน ครม.คณะที่ 40 เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2520 โดยมติคณะปฏิวัติ พ้นจากตำแหน่งวันที่ 12 พ.ค. 2522 โดยมีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521

ดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ใน ครม.คณะที่ 41 เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2522 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 3 มี.ค. 2523 โดยลาออกเพราะวิกฤตการณ์น้ำมัน และผู้ลี้ภัย 

8.

ตำแหน่ง รมว.การคลัง ว่างเว้นการมีนายกรัฐมนตรีมาควบตำแหน่งนานถึง 43 ปี เพราะนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ที่ควบ รมว.การคลัง คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์

เศรษฐา  โปรดเกล้านายก 1348.jpeg

จนกระทั่ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คือ ขุนคลัง คนล่าสุดที่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รมว.การคลัง คนที่ 55 ใน ครม.คณะที่ 63 ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2566

สำหรับประวัติของ เศรษฐา เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. พ.ศ.2505 ปัจจุบันอายุ 61 ปี เกิดที่กรุงเทพมหานคร

เศรษฐาเป็นบุตรเพียงคนเดียวของ ร.อ.อำนวย ทวีสินและชดช้อย ทวีสิน (สกุลเดิม: จูตระกูล)สายสกุลทางมารดาของเขาเกี่ยวข้องกับตระกูลนักธุรกิจจีน–ไทย 5 ตระกูล: ยิบอินซอย, จักกะพาก, จูตระกูล, ล่ำซำ และบุรณศิริ

สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ และปริญญาโท สาขาการเงิน มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ (Claremont Graduate University) ในสหรัฐอเมริกา

เศรษฐาได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ด้วย คะแนนเสียงเห็นชอบ 482 เสียง จากจำนวนสมาชิกที่ลงคะแนนทั้งหมด 728 คน และได้มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566

ภารกิจสำคัญของ เศรษฐา ในฐานะขุนคลังคนที่ 55 คือการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอยมานานให้กลับมาพลิกฟื้นและมีรายได้เข้าสู่ประเทศอีกครั้ง หลังประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะการขาดดุลงบประมาณมาเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตาม ยังมีอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยนั่งตำแหน่ง รมว.การคลัง เพียงแต่เป็นตำแหน่ง รมว.การคลัง ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ซึ่ง บรรหาร เคยนั่งตำแหน่ง รมว.การคลัง คนที่ 33 เพียงสมัยเดียว ในครม.คณะที่ 46 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2533 - วันที่ 23 ก.พ. พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นรัฐมนตรี 'ขุนคลัง' ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี

เศรษฐา กระทรวงการคลัง กราฟฟิก 866282827966366946_n.jpg