ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ดแข่งขันการค้าจับตาดีลยักษ์ 'แอร์เอเชีย' ซื้อหุ้น 'นกแอร์' แจงมี 2 แนวทางพิจารณา ย้ำต้องขออนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ หรือร่วมธุรกิจแล้วต้องแจ้งภายใน 7 วัน ชี้ถือเป็นการรวมธุรกิจภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า หากมีผลทำให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องขออนุญาตก่อน มิฉะนั้นอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้เฝ้าระวังและจับตาดูกรณีบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ดำเนินกิจการสายการบินไทยแอร์เอเชีย จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ผู้ดำเนินกิจการสายการบินนกแอร์ จากกลุ่มจุฬางกูรอย่างใกล้ชิด โดยได้มีการดำเนินการทำ Due Diligence (ตรวจสอบสถานะของธุรกิจ) เพื่อประเมินมูลค่าปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เพราะหากมีการดำเนินการซื้อหุ้นจริงอย่างที่เป็นข่าวจริง จะถือว่าเป็นการรวมธุรกิจภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นเพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจ การอำนวยการ หรือการจัดการ ที่เป็นการรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ ตามกฎหมายกำหนดแนวทางการพิจารณา 2 กรณี 

  • กรณีที่หนึ่ง : ต้องขออนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ทั้ง 2 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-cost) ภายในประเทศเป็น 2 ลำดับแรก อีกทั้งยังเป็นการรวมธุรกิจแบบแนวนอน (Horizontal Merger) หรือการรวมธุรกิจ ในตลาดสินค้าหรือบริการเดียวกัน หากปรากฏว่าโครงสร้างตลาดหลังรวมธุรกิจทำให้แอร์เอเชียมีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะเข้าข่ายการรวมธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งกรณีนี้ ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และต้องได้รับการอนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ จึงจะสามารถดำเนินการรวมธุรกิจต่อไปได้


  • กรณีที่สอง : การรวมธุรกิจที่ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจหลังจากรวมธุรกิจแล้วภายใน 7 วัน โดยกรณีนี้จะใช้ยอดเงินขายเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งที่มียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ดำเนินการรวมธุรกิจ ซึ่งการที่แอร์เอเชียเข้าซื้อหุ้นจากกลุ่มจุฬางกูร ในสัดส่วนการซื้อหุ้นมากกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนกแอร์ เพื่อควบคุมนโยบาย การบริหารธุรกิจ การอำนวยการ หรือการจัดการ แต่ไม่เป็นการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด จะเข้าข่ายการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ 

กรณีนี้ สามารถแจ้งผลการรวมธุรกิจให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าทราบ ภายใน 7 วัน หลังรวมธุรกิจเรียบร้อยแล้วได้

สำหรับบทลงโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย 1. การรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หากฝ่าฝืน จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.5 ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ 2.การรวมธุรกิจที่อาจส่งผลลดการแข่งขัน มีโทษปรับในอัตราไม่เกิน 2 แสนบาท และปรับรายวัน ในอัตราไม่เกิน 1 หมื่นบาท/วัน ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนตามกฎหมายอยู่

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้สั่งการให้สำนักงานฯ เฝ้าระวัง และจับตาดู กรณีการรวมธุรกิจของสายการบินดังกล่าวข้างต้นอย่างใกล้ชิด และหากตรวจพบพฤติกรรม ที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางค้าจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง และ เคร่งครัด โดยทันที

อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ได้ส่งหนังสือชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดย AAV ระบุว่า ตามที่ ตลท. ได้สอบถามมายังบริษัทฯ เกี่ยวกับข้อมูลที่ปรากฎในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้นนกแอร์จากกลุ่มจุฬางกูรทั้งหมดนั้น บริษัทขอเรียนว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการลงทุน แต่ยังมิได้มีข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และยังไม่ได้กระทำการใดที่มีผลผูกพันบริษัทเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นนกแอร์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามบริษัทจะแจ้ง ตลท.ทราบโดยทันทีหากมีความคืบหน้า หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ NOK แจ้ง ตลท. ระบุว่า ตามที่ ตลท. ขอความร่วมมือให้ชี้แจงข่าวเกี่ยวกับ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) จะเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้น บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการเข้าลงทุนดังกล่าว ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด 

ปัจจุบัน AAV มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ สัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 41.32 , บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด สัดส่วนร้อยละ 7.26, กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว ร้อยละ 4.79, นายธนรัชต์ พสวงศ์ ร้อยละ 3.73 และนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ร้อยละ 2.68

ส่วน NOK มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ นายณัฐพล จุฬางกูร สัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 23.77, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 21.80, นายทวีฉัตร จุฬางกูร ร้อยละ 18.86, นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ร้อยละ 12.50 และ ดร.ธรรม์ จิราธิวัฒน์ ร้อยละ 0.51

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :