วันที่ 24 พ.ค. นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2536 แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีการให้อำนาจรัฐ โดยกระทรวงวัฒนธรรม ถอดถอนศิลปินแห่งชาติได้ โดยยกเหตุผล 4 ข้อระบุผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจดังนี้
1.เป็นเกียรติคุณที่มีพระราชวงศ์ทรงเป็นองค์พระราชทานโดยเฉพาะ การถอดถอนภายหลัง จะเป็นการกระทบกระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระองค์ท่านด้วยโดยปริยาย
2.การกำหนดมาตรการถอดถอนหลังการประกาศยกย่องในทุกเกียรติคุณ เป็นการหลู่เกียรติตำแหน่งนั้นๆ เสียแต่ต้น สร้างความไม่แน่นอนมั่นคงให้กับตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งไม่เคยมีกติกาทำนองนี้กับการยกย่องเกียรติคุณใดๆมาก่อน
3.ความผิดพลาด บกพร่องของศิลปินแห่งชาติ หรือผู้ได้รับยกย่องเกียรติคุณใดๆ ย่อมถือเป็นกรณีส่วนตัวโดยเฉพาะ หาใช่ความรับผิดชอบของหน่วยงานหรือสถาบันผู้มอบเกียรติคุณนั้นไม่ กล่าวคือเป็นความผิดต่อภายหลังซึ่งย่อมเป็นไปตามเฉพาะกรณีแห่งความผิดนั้นๆเอง เช่น สังคมจะประณาม เป็นส่วนตัว หรือ ตามกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดต่อการกระทำนั้นๆ
4.มาตรการนี้จะถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองนำมาอ้างโจมตีกันได้ ดังที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้
สุชาติ ถามทำไมเพิ่งค้าน ?
นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เมื่อปี พ.ศ.2554 ตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กว่า ทำไมนายเนาวรัตน์เพิ่งจะคัดค้าน ทั้งที่ตัวเองก็มีโอกาสมานานแล้ว ในฐานะ 1 ใน 15 คณะกรรมกลางของกระทรวงวัฒนธรรม
เนื้อหาทั้งหมดระบุดังนี้
"ทำไมช้านัก ? ในฐานะที่เป็น 1 ใน 15 คณะกรรมกลางของกระทรวงวัฒนธรรม ถ้ามีความเห็นว่าการแก้ไขกฎกระทรวงให้ถอดถอน "ศิลปินแห่งชาติ" ได้ มันมีความไม่เหมาะสม และอาจถูกลากเข้าไปโยงกับการเมือง ทำไมไม่ออก "เสียงคัดค้าน" เรื่องการถอดถอนนี้ในบอร์ดของกระทรวงวัฒนธรรมให้สาธารณชนรับทราบเสียตั้งแต่ต้น
ถ้าเกรงว่าจะกระทบกระเทือน "หลายสิ่งหลายอย่าง" ทำไมปล่อยให้การเสนอเรื่องนี้ผ่านขั้นตอนต่างๆจนทะลวงเข้าไปเป็นมติคณะรัฐมนตรี และผ่านขั้นตอนจนได้ประกาศออกมาเป็นกฎหมายใน "ราชกิจจานุเบกษา"
ทำไมรู้สึกช้านัก ว่าไปแล้วก็เหมือนรู้สึกช้ามาตลอดในอีกหลายเรื่องนั่นแหละ
ต่อไปนี้ถ้ายังยืนยันว่า "ไม่เห็นด้วย" ก็ให้เอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมบอร์ด "คณะกรรมการกลาง" ของกระทรวงวัฒนธธรรม แล้วเสนอให้ยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว โดยให้ประกาศ "ยกเลิก" ลงใน "ราชกิจจานุเบกษา" อีกครั้ง
ถ้าไม่สำเร็จตามเหตุผลที่ได้แจ้งต่อสาธารณชนว่า "ไม่เห็นด้วย" ตามมารยาทแล้วก็ควรลาออกเสียจากบอร์ดของกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นที่ชัดเจน อยากรู้นัก ทำไมปล่อยเรื่องให้ผ่านมาจนถึงขั้นนี้"
ก่อนหน้านี้ นักเขียนเจ้าของนามปากกา สิงห์สนามหลวง ยังระบุด้วยว่า “ศิลปินแห่งชาติ มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง อันเนื่องมาจากการสังหารหมู่ประชาชน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553”
เผยประสบการณ์ ก่อนจะเป็น "ศิลปินแห่งชาติ"
นายสุชาติ ยังได้เปิดเผยประสบการณ์ขั้นตอนการคัดเลือก "ศิลปินแห่งชาติ" โดยระบุว่า "ศิลปินแห่งชาติ" ในทุกสาขา เท่าที่ผมพอมีประสบการณ์มาบ้าง รายชื่อต่างๆ ที่มีการเสนอเข้ามาในแต่ละปี จะได้รับการ "ชักเข้าชักออก" อย่างเป็นทางการอยู่ 2 ขั้นตอน คือ
1."คณะอนุกรรมการ" ในแต่ละสาขา ( ประมาณ 3-5 คน ตามปกติจะมี "ศิลปินแห่งชาติ" ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการในแต่ละสาขาด้วย 1-2 คน เช่นในปีที่ผมได้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" อนุกรรมการที่นำเสนอชื่อและต่อสู้ให้ผม คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล )
2.คณะกรรมการกลาง ( 15 คน ) ที่จะ "ขักเข้าชักออก" อีกครั้ง และอาจจะมีการสอดไส้ได้ในทุกขั้นตอน เช่นรายชื่อที่เคยมีการเสนอไว้ก่อนหน้าในแต่ละปี แทนที่จะอยู่ในลำดับขั้นตอนก่อนหลัง เพื่อนำมาพิจารณาใหม่ในปีถัดไป ก็อาจถูกชักออก ให้ Out of Orbit ( หลุดวงโคจร ) ไปเลย แล้วนำเอารายชื่อใหม่เข้ามาสมทบ แต่กระนั้น ถ้าหากไม่มีตัวแทนของ "อนุกรรมการ" เข้าไปยืนยันต่อสู้ให้ใน "คณะกรรมการกลาง" ( ที่เรียกว่า "ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม" 15 คน ที่อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้เชิญเข้ามาจาก "บุคคลภายนอก" ) และรายชื่อที่ผ่านขั้นตอนมาจาก "คณะอนุกรรมการ" นั้นก็อาจถูกชักเข้าชักออกอีกครั้งได้ โดยไม่ได้มีหลักทั้งในเรื่อง Milestone ( รากเหง้าเชิงประวัติ ) และในเรื่อง Priorities ( ไทม์ไลน์ก่อนหลัง ) ซึ่งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ ทั้งในเรื่องข้อมูลความรู้ การประเมินผลงาน และ อคติทางการเมือง
หมายเหตุ : คณะกรรมการกลาง และ คณะอนุกรรมการ ในแต่ละสาขา ที่เข้ามาทำหน้าที่เลือกคัด "ศิลปินแห่งชาติ" ในแต่ละปี มีเบี้ยประชุม และค่าเดินทางในการมาประชุมทุกครั้งจากเงินภาษีของประชาชน แต่ประชาชนกลับไม่ค่อยทราบความโปร่งใสว่า คณะกรรมการทั้ง 2 ขุดดังกล่าว มีหลักเกณฑ์ในการเลือกสรร และมีกำหนดเวลาในการทำงานอย่างไร (โดยมักจะอ้างว่าเป็นการ "พิจารณาลับ" ของกระทรวงวัฒนธรรม) "
นิพิฏฐ์ เผยเคยเสนอมาแล้ว
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเเสดงทัศนะไม่เห็นด้วยเช่นกันต่อการ การถอดถอนศิลปินแห่งชาติ โดยระบุว่าเรื่องนี้เคยถูกเสนอมาเเล้ว สมัยตนเองเป็นรัฐมนตรี แต่ตนขอให้ถอนเรื่องออกไป
"เรื่องการถอดถอนศิลปินแห่งชาติที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม เป็นข่าวอยู่นานแล้ว และตอนนี้ครม.ก็เห็นชอบ และได้ประกาศหลักเกณฑ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ความจริงเรื่องนี้ ถูกเสนอมาครั้งหนึ่งแล้วตอนผมเป็นรัฐมนตรี แต่ผมขอให้ผู้เสนอถอนเรื่องออกไป และขอว่า ตอนผมเป็นรัฐมนตรีอย่าเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาเลย เพราะส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการถอดถอนศิลปินแห่งชาติ ผมเห็นว่า ศิลปินก็เหมือนนักปรัชญานั่นแหละ เขารู้ความจริงแท้บางอย่างเหนือคนทั่วไป แต่ก็ใช่ว่าเขาจะปฏิบัติตามความจริงนั้นได้ ปทัสถานของศิลปินจึงต่างจากคนทั่วไป" นายนิพิฏฐ์ บอก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 63 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ลงนามโดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ประเด็นสำคัญปรากฏในข้อ 2 ที่ระบุว่า ให้ยกเลิกความในข้อ 10 แห่งกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2555 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 10 ในกรณีที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสาร หลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องแล้ว ถ้าเห็นว่าถูกต้องและครบถ้วน ให้เสนอผลการตรวจสอบ รวมทั้งเอกสารหลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว
หากปรากฏว่าศิลปินแห่งชาติผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความมผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการโดยมติด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อได้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติตามวรรคสอง ให้งดการจ่ายประโยชน์ตอบแทนตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ”