ไม่พบผลการค้นหา
'วันเว็บ' ได้เงินระดมทุนรอบล่าสุด 39.5 พันล้านบาท ย้ำโครงการปล่อยดาวเทียมนับพันดวง 'เกิดแน่' ภายในสิ้นปีนี้ เตรียมสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานได้ทั่วโลก

‘วันเว็บ’ (OneWeb) สตาร์ทอัพเทคโนโลยีในสหราชอาณาจักรได้รับเงินกว่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 39.5 พันล้านบาท จากการระดมทุนครั้งล่าสุด เพื่อต่อยอดแผนการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยเงินจำนวนนี้เป็นการการันตีว่า การปล่อยดาวเทียมในปี 2564 ‘จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน’

บีบีซี สื่ออังกฤษ ประเมินว่าสาเหตุที่วันเว็บได้รับเงินระดมุทนมากขนาดนี้ มาจากการประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศเพื่อให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว (กุมภาพันธ์ 2562) แม้ว่าคู่แข่งของวันเว็บจะมีอยู่หลายเจ้า รวมไปถึงบริษัทสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ เศรษฐีชาวอเมริกัน ซึ่งมีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน คือ การสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลก เพื่อให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ในพื้นที่ที่ไม่มีเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือการเชื่อมต่อแบบไม่มีคุณภาพในปัจจุบัน

จากตัวเลขการระดมทุนรอบล่าสุดทำให้วันเว็บมีทุนสะสมรวม 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 107.69 ล้านบาท โดยได้จากผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งรวมไปถึง ซอฟต์แบงก์ กรูุป คอร์ป บริษัทข้ามชาติด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารสัญชาติญี่ปุ่น, กลุ่มบริษัทเวอร์จินของริชาร์ด แบรนสัน, โคคา-โคล่า บริษัทเครื่องดื่มข้ามชาติ และ ควอลคอมม์ บริษัทผลิตสารกึ่งตัวนำสัญชาติอเมริกัน

ด้วยเงินทุนมหาศาล บริษัทจะเริ่มปล่อยดาวเทียมมากกว่า 30 ดวงต่อเดือนไปสู่ชั้นบรรยากาศภายในสิ้นปีนี้ หวังสร้างกลุ่มดาวเทียมเพื่อใช้ในการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วโลก มีการคาดการว่า ต้องใช้ดาวเทียมตั้งแต่ 650 – 2,000 ดวง หากต้องการจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งการปล่อยดาวเทียมครั้งนี้จะเป็น “โครงการการปล่อยดาวเทียมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์”

เกร็ก วายเลอร์ ซีอีโอวันเว็บ สัญชาติอเมริกัน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า เป้าหมายหลักของบริษัทคือการช่วยเหลือผู้คนในประเทศที่กำลังพัฒนา

“ถ้าคุณดูให้ทั่วประเทศตลาดเกิดใหม่ในจุดที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึงหรือเข้าได้อย่างจำกัด คุณจะเห็นความยากจน” เกร็ก กล่าว

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้และหันหลังให้ก็ไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น การทิ้งให้ผู้คนจนนวนหนึ่งอยู่ข้างหลังผู้คนอีกกลุ่ม เนื่องจากข้อจำกัดทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รังแต่จะเพิ่มช่องว่างความเลื่อมล้ำที่มีมากและยังแก้ไม่ได้ และหากอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงจากทุกพื้นที่บนโลกได้จริงภายใต้เงื่อนไขของการปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ ย่อมเป็นการดีต่อมนุษยชาติ

อ้างอิง; BBC