ไม่พบผลการค้นหา
แอมเนสจี้ เผยรายงานเปิดโปง 'ห่วงโซ่อุปทาน' เป็นเชื้อเพลิง โหม 'อาชญากรรมสงคราม' ในเมียนมา พุ่งเป้าสังหารพลเรือน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ชี้ว่าประชาคมระหว่างประเทศต้องป้องกันอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้มีการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานไปถึงมือกองทัพเมียนมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ เนื่องในวาระการเผยแพร่ผลการสอบสวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งข้อมูลใหม่ที่น่าตกใจจากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศที่ร้ายแรงถึงชีวิตต่อพลเรือน

จากรายงานเรื่อง “คลังอันตราย: เปิดโปงห่วงโซ่อุปทาน เชื้อเพลิงโหมอาชญากรรมสงครามในเมียนมา” (Deadly Cargo: Exposing the Supply Chain that Fuels War Crimes in Myanmar) ได้ให้รายละเอียดของผลการสืบสวนเกี่ยวกับเชื้อเพลิงอากาศยาน นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 2564 รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับท่าเรือระยะไกล ซึ่งมีการจัดส่งเชื้อเพลิงเพื่อสนับสนุนการโจมตีทางอากาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไว้สำหรับการสังหารพลเรือน เเละทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว   


เชื้อเพลิงเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาอย่างไร?

การโจมตีทางอากาศ ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อครอบครัว สร้างความหวาดกลัวต่อพลเรือน สังหารและทำให้พลเรือนบาดเจ็บ หากไม่มีน้ำมันสำหรับเติมเครื่องบินเหล่านี้ เครื่องบินย่อมบินขึ้นไม่ได้และไม่สามารถสร้างความเสียหายได้ ในวันนี้ เราขอเรียกร้องผู้จำหน่าย บริษัทขนส่งทางเรือ เจ้าของเรือ และบริษัทประกันภัยทางทะเลให้ถอนตัวออกจากห่วงโซ่อุปทานที่ให้ประโยชน์กับกองทัพอากาศเมียนมา

รายงานนี้จัดทำขึ้นจากเเหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งจากเอกสารของบริษัทที่รั่วไหลออกมา การยื่นเอกสารของบริษัทกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริการติดตามเรือ ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลสาธารณะ รวมถึงการสัมภาษณ์เป็นการเฉพาะกับผู้แปรพักตร์จากกองทัพอากาศเมียนมา และแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับบริษัทพูม่าเอ็นเนอร์ยี่

นอกจากนั้นยังมีบทสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ ซึ่งได้บอกเล่าประสบการณ์อัน   น่ากลัว เผยให้เห็นผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์จากการโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเหล่านี้ ผู้เสียหายจากการโจมตีทางอากาศเป็นส่วนหนึ่งของพลเรือนกว่า 2,300 คนที่ถูกกองทัพสังหารนับแต่เกิดการทำรัฐประหาร

กาหน่อ ชายวัย 73 ปี ผู้เห็นเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศในหมู่บ้านที่มีประชากรจำนวนมากที่รัฐกะยา (คะเรนนี) ภาคตะวันออกของเมียนมา ซึ่งส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตสองคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า

“มีเสียงดังมาก ผมเห็นเครื่องบินรบลดระดับลงมา ทิ้งระเบิด จากนั้นก็บินขึ้นไปอีกครั้ง” เขากล่าว “เครื่องบินบินต่ำมาก....ช่วงที่ [วน] มารอบแรก พวกเขาทิ้งระเบิด จากนั้นก็มีการกลับลำ และยิงพวกเราด้วยปืนกล”