ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จัดเสวนาเรื่องสิทธิบัตรกัญชา หวั่นรัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่างชาติ ทำให้คนไทยเข้าไม่ถึงประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชาและกระท่อม ขณะที่นักกฎหมายเสนอเซ็ทซีโร่ การขอสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมด

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การขอสิทธิบัตรกัญชาในขณะนี้ ไม่ชอบด้วยกฏหมายและต้องยกเลิกทั้งหมด เพื่อความมั่นคงและจำกัดการผูกขาดการเข้าถึงยารักษาโรคในประเทศไทย หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. ได้พิจารณาอนุมัติร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ซึ่งปลดล็อกกัญชาและกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 เพื่อให้สามารถนำไปศึกษาวิจัย และเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้รักษาโรค ภายใต้การควบคุมและดูแลทางการแพทย์ได้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา

นายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษมีผลบังคับใช้แล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรเซทซีโร่ การขอสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมดทั้งผู้ที่กำลังยื่นเรื่องหรืออยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาเพื่อเป็นการปกป้องนักวิจัยไทยให้เข้าถึงการใช้และศึกษากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างเต็มที่

นายเจษฏ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัญฑิตเอเชีย กล่าวว่า ระบบการขอสิทธิบัตรนี้เป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาหรือไม่ โดยเฉพาะในประเทศที่เทคโนโลยีไม่ก้าวหน้าเพียงพอ แต่การห้ามต่างชาติเข้ามาขอสิทธิบัตรการใช้กัญชากระท่อมในไทยนั้น เป็นไปได้ยากในบริบทของโลกปัจจุบัน แต่ทางกฏหมายสามารถสร้างความได้เปรียบหรือมีบทที่สนับสนุนผู้ขอสิทธิบัตรชาวไทย แต่ต้องยอมรับว่าใครที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าย่อมได้เปรียบในการขอสิทธิบัตร

นายเจษฏ์ กล่าวว่า ยังต้องจำกัดความไปอีกว่าการขอสิทธิบัตรสารสกัดหรือสารสังเคราะห์จากกัญชาหรือกระท่อมนั้น อาจมีผู้อ้างว่าเป็นสารสกัดประเภทบริสุทธิ์ หรือโมเลกุลหรือจุลชีวะได้ด้วย นอกจากนั้นมีข้อคำนึงว่าการขอสิทธิบัตรนั้นสามารถขอตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกพันธ์กัญชาเลยหรือไม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดการขอสิทธิบัตรแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จึงต้องสะสางเรื่องสิทธิบัตรไม่ให้เป็นปัญหาต่อไป

นายสมชาย รัตนซื่อสกุล คณะบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เห็นว่าหากมีการเซทซีโร่การขอสิทธิบัตรกัญชาในขณะนี้ อาจขอให้เกิดข้อโต้แย้งตามมา เนื่องจากผู้ขอสิทธิบัตรอาจฟ้องร้องกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ โดยขณะนี้ต้องพิจารณา พ.ร.บ.สิทธิบัตรและคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าการขอสิทธิบัตรเป็นการขอสำหรับสิ่งประดิษฐ์ใหม่หรือไม่ และนอกจากนั้นกฏหมายสากลยังไม่รับรองการจดสิทธิบัตรของสารสกัดจากพืช แต่ก็ต้องให้ความหมายของคำว่าสารสกัดจากพืชด้วย เพราะบางประเทศที่เทคโนโลยีสูงและสามารถสกัดสารบริสุทธิ์จากพืชได้ อาจอ้างว่าสารสกัดบริสุทธิ์จากพืชไม่มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว

นายวิฑูร เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) กล่าวว่า ในวันที่ 11 ม.ค. ทางมูลนิธิฯ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องจะเข้าพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายทั้งหมด เนื่องจากกฏหมายไทยอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก ทั้งกม.สิทธิบัตร และกม.พันธุ์พืช นอกจากนั้นจะเสนอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาปฏิรูปกระบวนการขอสิทธิบัตรทั้งหมด และแก้ไขกม. กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพ

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมบริหารศูนย์กฏหมายสุขภาพฯ คณะนิติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ควรมีการร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการใช้กัญชาและกระท่อมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ออกมาเป็นการเฉพาะ เนื่องจากทั้งสองประเภทไม่ใช่สารเคมีเหมือนยาเสพติดประเภทอื่น จึงควรมีการจัดประเภทยาเสพติดใหม่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง