ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติกล่าวว่า 'ชนชั้นทางสังคม' มีผลต่อการหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่อาจทำลายสิทธิในการมีชีวิตของคนจน รวมถึงประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมของรัฐบาลทั่วโลกด้วย

ฟิลิป อัลสตัน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านความยากจนสุดขีดและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เขียนรายงานว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ ทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต การเข้าถึงน้ำ อาหาร และที่อยู่อาศัยของคนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก รวมถึงทำลายประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมด้วย อีกทั้งยังสรุปรายงานนี้ว่า “สิทธิมนุษยชนอาจไม่เหลือรอดจากความเปลี่ยนแปลงรุนแรงนี้”

อัลสตันกล่าวว่า โลกกำลังเสี่ยงกับ “การแบ่งแยกด้านสภาพภูมิอากาศ” มากขึ้น โดยคนรวยจะสามารถหลบเลี่ยงจากความร้อนและความอดอยากจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่คนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุดคือกลุ่มคนยากจนที่อาจไม่สามารถเข้าถึงอาหารและน้ำได้

ในรายงานระบุว่า ภายในปี 2030 จะมีคนกว่า 120 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่ในภาวะยากจน และแม้ทุกประเทศจะสามารถทำตามเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ ก็จะยังมีประชากรโลกหลายสิบล้านคนเผชิญปัญหาความยากจน ซึ่งจะนำไปสู่การย้ายถิ่นฐานและความอดอยาก

รายงานฉบับนี้ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจทำให้การพัฒนาของโลกถอยหลังกลับไป 50 ปี รวมถึงความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขและการลดความยากจนด้วย โดยประเทศกำลังพัฒนาจะต้องรับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกว่าร้อยละ 75 แม้คนร้อยละ 50 ของประชากรกลุ่มที่จนที่สุดของโลกจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

นอกจากนี้ ประชาธิปไตย หลักนิติธรรม สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยังอยู่ในความเสี่ยงด้วย เพราะความไม่พอใจของประชาชนที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น จะยิ่งไปกระตุ้นกระแสชาตินิยมสุดโต่ง ความเกลียดกลัวต่างชาติ และการเหยียดเชื้อชาติ 

ทั้งนี้ อัลสตันระบุว่า ประเทศต่างๆ กลุ่มเอ็นจีโอ และธุรกิจ รวมถึงสหประชาชาติเองก็ยังไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยปัจจุบันมีมาตรการที่ไม่เหมาะสมกับความเร่งด่วนและระดับความรุนแรงของภัยจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และมาตรการเหล่านั้นก็ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประชากรโลกจำนวนมาก และความจำเป็นในการปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

รายงานฉบับนี้ยังประณามโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มักยอมรับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และวิพากษ์วิจารณ์ไฌร์ โบวโซนาโร ประธานาธิบดีบราซิลที่ประกาศว่าจะเปิดให้มีการทำเหมืองในป่าแอมะซอน

อัลสตันยกตัวอย่างว่า เมื่อเฮอร์ริเคนแซนดี้ถล่มมลรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อีป 2012 มีชาวนิวยอร์กรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนตกงาน คนไร้บ้าน คนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ เป็นต้น ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าและสาธารณสุขได้ ในขณะที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทโกลแมน แซคส์ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนและการเงิน กลับมีถุงทรายหลายหมื่นใบมากั้นไว้ และยังมีเครื่องผลิตไฟฟ้าของตัวเองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ยังเขียนถึงความก้าวหน้าหลายประการในช่วงหลังมานี้ ตั้งแต่การฟ้องร้องคดีต่อรัฐและบริษัทขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล เกรตา ธุนเบิร์ก วัยรุ่นผู้ปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจนทำไปสู่การนัดหยุดเรียนประท้วงทั่วโลก รวมถึง Extinction Rebellion การเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองที่ใช้การประท้วงอย่างสันติ เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวิภาพ การสูญพันธุ์ของมนุษย์ และการล่มสลายของระบบนิเวศน์

ที่มา : UN News, The Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :