ไม่พบผลการค้นหา
ทีมนักวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติออกรายงานเตือนให้ทั่วโลกช่วยกันป้องไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยต้องเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดในการแก้ไขปัญหานี้ภายใน 12 ปี เพื่อป้องกันหายนะที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศชั้นนำของโลกได้ร่วมกันเขียนรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ โดยระบุว่าทั่วโลกมีเวลาเหลือเพียง 12 ปีในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่าเดิมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

IPCC ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศปรับเปลี่ยนนโยบายโดยด่วนที่สุด เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งพวกเขาประเมินว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ไม่ได้ใชงบประมาณมากจนเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องทุกประเทศจะต้องมีความทะเยอทะยานอย่างถึงที่สุดในการทำตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เดบรา โรเบิร์ตส ประธานร่วมคณะทำงานของ IPCC ระบุว่า นี่เป็นเส้นตายสำหรับมนุษย์ และนี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกคนต้องลงมือแก้ปัญหากันแล้ว


“รายงานฉบับนี้เป็นดั่งระฆังเตือนภัยที่ใหญ่ที่สุดจากวงการวิทยาศาสตร์ และฉันหวังว่ามันจะช่วยขับเคลื่อนผู้คน และทำลายอาการหลงพึงพอใจแบบผิดๆ ได้”


เปลี่ยนเป้าหมายจาก 2 องศาเซลเซียสเป็น 1.5 องศาเซลเซียส

ข้อตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้กำหนดเป้าหมายว่าทั่วโลกจะต้องช่วยกันควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นจากยุคอุตสาหกรรมเกิน 2 องศาเซลเซียส แต่จากการศึกษาผลกระทบของโลกร้อน IPCC พบว่าการปล่อยให้อุณหภูมิโลกสูงจากยุคอุตสาหกรรมถึง 2 องศาจะสร้างความเสียหายอย่างมาก จึงควรควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงจากเดิมเกิน 1.5 องศาเซลเซียสมากกว่า

ศาสตราจารย์จิม สเกีย ประธานร่วมคณะทำงานของ IPCC กล่าวว่า การควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายได้มากกว่การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียสมาก แต่การจะควบคุมอุณหภูมิให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ เราต้องเปลี่ยนแปลงระบบพลังงาน วิธีการจัดการที่ดิน และระบบคมนาคมของเรา


0.5 องศาเซลเซียส แต่เสียหายมหาศาล

การศึกษาของ IPCC ระบุว่า หากลดเป้าหมายอุณหภูมิโลกลงมาให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แทน 2 องศาเซลเซียสจากยุคอุตสาหกรรม จะทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดลดลง อีกทั้งยังลดจำนวนคนที่ยากจนที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศลงได้มาก และการลดอุณหภูมิเป้าหมายลงเพียง 0.5 องศาเซลเซียสจะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 22 จากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส

ยิ่งไปกว่านั้น การลดเป้าหมายอุณหภูมิโลกลงจะทำให้ความเครียดน้ำ (water stress) หรือสถานการณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อกิจการต่างๆ ลดลงร้อยละ 50 ซึ่งจะลดภาวะขาดแคลนอาหารด้วย

รายงานดังกล่าวได้เปรียบเทียบว่าหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะทำให้เกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.8 แต่หากขึ้นไปสูงกว่า 2 องศาเซลเซียส ไฟป่าก็จะเกิดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 61.9 ส่วนปะการังในมหาสมุทรจะตายหมดหากอุณหภูมิขึ้นไปเกิน 2 องศา แต่หากเราสามารถควบคุมให้อุณหภูมิสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะเหลือปะการังที่รอดประมาณร้อยละ 10-30


ปะการังฟอกขาว

(ภาวะปะการังฟอกขาวทำให้ปะการังขาดสารอาหารและตาย)


ในขณะที่แหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงและพืชจะหายไปร้อยละ 6 หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1.5 องศา แต่ตัวเลจที่จะพุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 18 หากอุณหภูมิสงขึ้นเกิน 2 องศา ซึ่งเมื่อแมงที่เป็นผู้ทำหน้าที่ผสมเกสรมีจำนวนลดลง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ก็จะลดลงด้วย

นอกจากนี้ 2 องศาเซียสเซียสที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 10 เซนติเมตรภายในปี 2100 ซึ่งจะกระทบประชาชนมากกว่า 10 ล้านคน และอุตสาหกรรมประมงจะทำประมงได้น้อยลง 3 ล้านตัน เพราะจำนวนสัตว์ทะเลลดลงจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป รวมถึงสภาพน้ำทะเลที่เป็นกรดมากขึ้น ขณะที่ 1.5 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ทำประมงได้น้อยลง 1.5 ล้านตัน


ผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานดังกล่าวยังวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภูมิภาคต่างๆ บนโลกด้วย โดยระบุว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดอากาศแปรปรวนรุนแรง น้ำไหลบ่ามากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นจากยุคอุตสาหกรรมเกิน 2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2040 ผลผลิตการเกษตรต่อหัวอาจลดลงถึง 1 ใน 3 จากเดิม ซึ่งจะกระทบทั้งคนจนในเมืองและในชนบทในภูมิภาคนี้ แต่หาก 1.5 องศา จะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดนัก


น้ำท่วม-เพรชบุรี-แก่งกระจาน-รีสอร์ท

(น้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรี)


5 ขั้นตอนหยุดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

1. ภายในปี 2030 จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงให้ได้ร้อยละ 45 จากปี 2010 โดยเป้าหมายเดิมวางไว้ว่าจะควบคุมอุณหภูมิให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศา โดยวางแผนว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงร้อยละ 20 ในปี 2030

2. ยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศให้ได้ภายในปี 2050 จากแผนเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปี 2075

3. ภายในปี 2050 พลังงานไฟฟ้ากว่าร้อยละ 85 ของทั้งหมดจะต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน

4. ยุติการใช้พลังงานถ่านหิน

5. ต้องใช้พื้นที่กว่า 7 ล้านตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าพื้นที่ประเทศออสเตรเลียเล็กน้อย) ในการทำฟาร์มพลังงานหมุนเวียน


UAE เปิดโรงงานดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

(ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงให้ได้ร้อยละ 45 ภายในปี 2030)


วิธีแก้ราคาแพง แต่ไม่แก้จะแพงกว่า

รายงานของ IPCC ประเมินว่าวิธีแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล หากจะควบคุมอุณหภูมิให้สูงขึ้นจากเดิมไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะต้องมีการลงทุนในระบบพลังงานเฉลี่ยประมาณปีละ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2016 – 2035

อย่างไรก็ตาม ดร.สตีเฟน คอร์เนเลียส อดีตผู้เจรจาระหว่างรัฐบาลอังกฤษและ IPCC กล่าวว่า การตัดลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนต้องใช้งบประมาณสูงในระยะสั้น แต่ก็ถูกกว่าการกำจัดก๊าซคาร์บอนในภายหลัง และรายงานฉบับไม่เพียงแต่กล่าวถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องสัยไปกับการควบคุมอุณหภูมิโลก แต่ยังพูดถึงผลประโยชน์ที่ต้องนำมาชั่งน้ำหนักด้วย การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสสูงกว่า 2 องศาเซลเซียส ความเสี่ยงจากผลกระทบที่จะได้รับจากภัยพิบัติทางธรรมชาติก็น้อยกว่าด้วย


ที่มา : IPCC, BBC, The Guardian