ไม่พบผลการค้นหา
‘จาตุรนต์’ หวั่นญัตติฝ่ายค้านเสนอทำประชามติ ติดกระดุมเม็ดแรกผิด หวั่นแก้ รธน. ยากขึ้น เพราะหากมีผู้ใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งของผู้มีสิทธิ ร่าง รธน. เป็นอันตก ส่อแววเสียเปล่า ควรเริ่มจากแก้ พ.ร.บ.ประชามติ ก่อน

วันที่ 24 ต.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วาระพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ

ในช่วงหนึ่ง จาตุรนต์ ฉายแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวอภิปรายแสดงความเห็นต่อญัตติ โดยยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งยึดถือเป็นนโยบายมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แต่ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ การทำประชามติต้องทำในขั้นไหน อย่างไร และต้องทำกี่ครั้ง ญัตติดังกล่าวให้ทำประชามติตามมาตรา 9 ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ ซึ่งในความเข้าใจของตน คือต้องใช้ความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้แก้ไขมาตรา 256 ที่เปิดช่องให้มี สสร.

และหากพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหากำหนดว่า รัฐสภาต้องเป็นเจ้าของเรื่อง แสดงความต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญก่อน จึงจะมีกระบวนการทำประชามติได้ ซึ่งมองว่า การจะได้เสียงเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ครบนั้น ถือเป็นเรื่องยากมาก และตาม พ.ร.บ.ประชามติ ก็กำหนดว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ กล่าวได้ว่า การทำประชามติจะเป็นไปได้ยากอย่างมาก

“คนที่ไม่อยากให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ อ่านกติกาแล้ว ก็จะใช้วิธีนอนอยู่บ้าน 25-30% นอนอยู่บ้าน ไม่ต้องทำอะไรเลย ฝ่ายที่เห็นด้วย ซึ่งความจริงเป็นเสียงข้างมาก ถ้ามาลงคะแนนกันตามปกติ 40-45% ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ก็เท่ากับว่าการทำประชามตินั้นจะไม่ผ่าน เพราะไม่เป็นไปตามกฎหมายประชามติ”

จาตุรนต์ จึงเน้นย้ำว่า หากทำประชามติโดยไม่ได้แก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเสียก่อน มีความเสียงอย่างสูงที่จะทำประชามติแล้วไม่ผ่าน เนื่องจากกติกามีความพิศดารไปกว่าการทำประชามติ 2 ครั้งก่อนหน้า และเป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป แล้วจะกลายเป็นข้ออ้างของผู้ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการปิดทางไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีกนาน

“ถ้าทำกันไปตามกระบวนการนี้ เท่ากับเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกผิด และจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากขึ้นไปใหญ่” จาตุรนต์ กล่าว

จาตุรนต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า มีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหารือกัน ฝ่ายรัฐบาลไม่มีเหตุผลจะต้องขัดขวางฝ่ายค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ในกรณีนี้ หากทำตามกันไป จะยิ่งเป็นผลเสียต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


‘ภราดร’ ดักคออย่าปั่นข่าวว่าพรรครัฐบาลกอด รธน. 60

ด้าน ภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ได้กล่าวอภิปรายแสดงความเห็นต่อญัตติ โดยยืนยันเจตนารมณ์ของพรรคภูมิใจไทย ว่าไม่เห็นด้วยกับญัตติของ พริษฐ์ และก็คาดเดาได้เลยว่าหลังจากมีการลงมตินี้เสร็จสิ้น แน่นอนจะมีหลายฝ่ายที่พยายามจะบิดเบือน ว่าคนที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ คือคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ คือคนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้มีการทำประชามติเพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเทศนี้ เชื่อว่าหลังจากลงมติจะมีข่าวแบบนี้ 

ทั้งนี้ ที่พวกเราพรรคภูมิใจไทยไม่สามารถที่จะเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ไม่ใช่เพราะพวกเราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการทำประชามติการสอบถามประชาชนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยเพราะพวกตนเหนี่ยวรั้งและกอดรัดอยู่กับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร แต่พรรคภูมิใจไทยมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นมาโดยตลอด เพราะเป็นพรรคการเมืองแรกที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องให้มีการตั้งสสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 

ส่วนเหตุผลหลักๆที่ตนไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 เหตุผล ประกอบด้วย 

1) เพราะขณะนี้รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาหาแนวทางในการเดินหน้าเพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีความชัดเจน มีความหลากหลายทั้งภาคการเมือง และหลากหลายในภาคส่วนของนักวิชาการ มีความน่าเชื่อถือต่อสังคมมากพอสมควร ที่จะเดินหน้าชูธงเพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตได้ 

“แต่น่าเสียดายที่พรรคก้าวไกล ผู้ที่เสนอญัตตินี้ ไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้ ถ้าพรรคก้าวไกลเข้าร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้ ก็ไม่จำเป็นที่เพื่อนสมาชิกจะต้องมาเสนอญัตตินี้ในสภาเพื่อที่จะส่งให้กับรัฐบาลเพื่อไปพิจารณาทำประชามติ เพราะสามารถที่จะเสนอญัตติและความเห็นนี้ในคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องมาผ่านสภาและวุฒิสภาเพื่อที่จะเสนอต่อรัฐบาล และก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะรับฟังแล้วนำไปปฏิบัติหรือไม่ เพราะขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาและมีความน่าเชื่อถือเพียงพออยู่แล้ว”

2) เนื้อหาของญัตตินี้เป็นเนื้อหาที่พวกตนรับไม่ได้ไม่อาจที่จะลงมติเห็นด้วยได้ จะเห็นได้ว่าเพื่อนสมาชิกไม่มีแม้แต่คนเดียว ที่ลุกขึ้นเหนี่ยวรั้งกอดรัดกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่มีใครเห็นด้วย ทุกคนเห็นตรงกันหมดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขและปรับใหม่ จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ซึ่งทุกคนเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดอย่านำไปบิดเบือน 

แต่ที่ไม่เห็นด้วยเพราะคำถาม ที่ถามว่าควรจะแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองได้แสดง เจตนารมณ์ชัดเจน เช่นพรรคเพื่อไทย ก็บอกตอนหาเสียงว่า จะไม่แตะต้องในหมวดที่ 1 ว่าด้วยเรื่องของรัฐและหมวดที่ 2 เรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่คือหัวใจสำคัญที่พรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองอื่นๆ การที่เขียนเอาไว้แบบนี้ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 หรือหมวด 2

“ก็เขียนเอาไว้กว้างๆ แบบนี้ไปถามประชาชนและถ้าในกรณีประชาชนลงมติ เห็นด้วยที่จะแก้ทั้งฉบับก็เป็นไปได้ว่า อาจจะมีการแก้ไขในหมวดหนึ่งและหมวด 2 ด้วย ถ้าหากเป็นแบบนั้นพวกเราก็รับไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญเพราะเหตุใดพรรคภูมิใจไทยถึงยอมรับกับญัตติฉบับนี้ไม่ได้”

3) ความหลากหลายของ สสร. เพื่อนสมาชิก แม้กระทั่งพรรคก้าวไกลหลายคนที่อยากจะเห็น สสร.มาจาก ทุกอาชีพ และทุกภาคส่วนของสังคมมาจากทุกศาสนา พี่น้องชนเผ่า กลุ่มหลากหลายทางเพศ เราจะมั่นใจได้อย่างไรในคำถามของญัตตินี้บอกให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และถ้าหากเลือกตั้งมาแล้วไม่มีตัวแทนของกลุ่ม LGBTQ+ มาจากการเลือกตั้งจะทำอย่างไร จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่เราต้องการหรือไม่ 

“เราจะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่าถ้าเลือกตั้งแล้วจะมีตัวแทนของชนเผ่าทุกชนเผ่าในประเทศนี้,ภิกษุ-สงฆ์, คริสตจักร, กลุ่มประมง, กลุ่มชาวนา ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอยู่ใน สสร.ชุดนี้ ไม่มีอะไรการันตีได้เลย ว่าสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะมีกลุ่มอาชีพที่หลากหลายหรือมีความหลากหลายทุกกลุ่มในประเทศนี้ ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชน ซึ่งการเลือกตั้ง 100% ไม่สามารถจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้”

ภราดร กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากการลงมติอย่าตีความเจตนารมณ์พวกตนผิด และอย่าไปตีข่าวผิดว่าไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ หรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560