วันที่ 21 ก.พ. เวลา 9.47 น. ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระเรื่องด่วนการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอให้สภาฯ มีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบกับญัตติเสนอให้ทำประชามติความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2 ฉบับ ที่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว
สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติ เสนอการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ โดยระบุว่า ญัตติเสนอให้ ครม. ทำประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมคำถามแนบท้ายว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน”
กรรมาธิการฯ เห็นว่าการตั้งคำถามในญัตติดังกล่าว เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงอาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งญัตติดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะมีลักษณะมุ่งเพียงตั้งคำถามเท่านั้น ไม่ระบุเหตุจำเป็นที่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนการแก้ไขเนื้อหาฉบับเดิม และไม่มีแนวทางจัดทำประชามติที่ชัดเจนเพียงพอจะให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาได้โดยสะดวก
และหลังจากผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ เห็นว่า การออกเสียงประชามติพร้อมการเลือกตั้งทั่วไปนั้น มีกรอบเวลาและข้อกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งข้อจำกัดเรื่องการแบ่งเขต จะทำให้มีปัญหาเรื่องบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการทำประชามติแต่ละครั้ง ต้องใช้งบประมาณถึง 3,500 ล้านบาท เมื่อพิจารณาแล้ว และต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง การออกเสียงประชามติและเลือกตั้งทั่วไปในวันเดียวกัน เป็นไปได้น้อยมาก
ขณะที่ ส.ว.บางส่วน ได้โต้แย้งความเห็นของกรรมาธิการ เช่น คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ยังยืนยันว่า ตนจะลงคะแนนเห็นชอบให้กับญัตติดังกล่าว ด้วยเหตุผลคือ ยังหาไม่พบว่าจะมีเหตุใดต้องขัดขวางตัดสินใจในเบื้องต้นของประชาชนที่เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ อีกประการคือเห็นว่าเป็นไปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
“โดยตรรกะ เมื่อเราอ้างอิงและเคารพผลประชามติเมื่อปี 2559 เมื่อมีผู้เสนอให้ทำประชามติอีกครั้ง ผมไม่มีเหตุผลใดที่จะไปขัดขวาง หรือคัดค้านเขา”
คำนูณ อธิบายว่า การจะดำเนินการออกเสียงประชามติในเรื่องใดนั้น เป็นหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะของ ครม. ไม่ใช่รัฐสภา ส่วนรัฐสภามีหน้าที่เพียงแจ้งเรื่องไปยัง ครม. เท่านั้น ไม่ใช่การบังคับให้ต้องทำ หลักการของญัตติดังกล่าวที่เสนอมา จึงอยู่ที่เพียงการเสนอเรื่องไปยัง ครม. เท่านั้น ยังไม่ได้ไปถึงเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ซึ่งกระบวนการที่จะตามมาต้องใช้เวลาอีกเป็นปี
ขณะที่ เฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. แย้งว่า ที่กรรมาธิการฯ มีความกังวลในเรื่องการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญอย่างไม่มีขอบเขต แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นต้องมีการเห็นชอบให้ตั้ง สสร. อยู่ และเมื่อถึงตรงนั้น ส.ว. ยังกำหนดได้ว่า ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดใดบ้าง เช่น หมวด 1 หมวด 2 หรือมาตรา 255 ว่าด้วยระบอบการปกครอง ซึ่งขั้นตอนยังอีกยาวไกล
“ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ แล้ว ส.ว.ชุดใหม่มา เขาก็เป็นพวกการเมืองทั้งหมด เขาจะทำง่ายกว่าสมัยนี้ สมัยนี้ ส.ว.พวกเราก็ยังเห็นๆ กันอยู่ว่ามาจากไหน และเราก็ยังมีอำนาจตามมาตรา 256 ที่สามารถยับยั้งได้ ถ้าเราปล่อยอำนาจไปโดยหมดวาระ ส.ว.ชุดใหม่ก็มาจากพรรคการเมืองทั้งหมด เขาก็ยิ่งแก้ไขง่ายกว่าปัจจุบันนี้” เฉลิมชัย กล่าว
ด้าน มณเฑียร บุญตัน ส.ว. ย้ำว่า ญัตตินี้ ไม่ได้ถามความเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถามเพียงความเห็นชอบที่จะให้มีการออกเสียงประชามติเท่านั้น แม้ส่วนตัวตนจะไม่ได้เห็นด้วยนักกับการจัดทำใหม่ทั้งฉบับ แต่อย่างน้อยควรเราควรเปิดทางให้ประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์ร่วม ให้เรื่องที่สภาฯ เสนอได้ไปถึง ครม. เท่านั้น
“เราไม่สามารถรู้ได้หรอกว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ แต่ในระบอบประชาธิปไตย เราไม่อาจคาดเดาหรือมีสูตรสำเร็จรูปในเรื่องใดเลย ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความล่าช้า ที่ต้องใจเย็นและอดทน เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในกระบวนการ มันอาจไม่ถูกใจเราในวันนี้ อาจต้องทำซ้ำทำใหม่ แก้ไขไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สังคมตกผลึกร่วมกัน ประชาธิปไตยจึงไม่เป็นระบบที่การันตีประสิทธิภาพประสิทธิผลในเร็ววัน เป็นเรื่องน่ารำคาญ น่าเบื่อหน่าย ต้องอดทนใจเย็นไปตลอด แต่ผมยอมรับได้”
อย่างไรก็ตาม ยังมี ส.ว. บางส่วน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ เช่น กิตติศักดิ์ ชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะเป็นจุดเริ่มความขัดแย้งของประชาชนรอบใหม่ ประชาชนบางส่วนอาจเห็นชอบตามที่นักการเมืองใส่ข้อมูลว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ที่ประเทศไทยต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ก็มีที่มาจากนักการเมืองทุจริตคดโกง มีประชาชนออกมาไล่จำนวนมาก ดังนั้น ตนเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ปากท้องประชาชน แก้แล้วกินอิ่ม นอนอุ่นหรือไม่
“รัฐธรรมนูญปี 2560 ขึ้นชื่อว่า ฉบับปราบโกง นักการเมืองกลัวรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพราะหากถูกจับได้ว่า ทุจริต โกงประเทศ งบประมาณ ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต นี่หรือเปล่าจึงอยากแก้ทั้งฉบับ โดยประชาชนไม่ได้อะไรเลย จะแก้เพื่อนิรโทษกรรม เพื่อปลดโทษให้ทุจริตโกงกินหนักกว่าเดิมหรือไม่”
กิตติศักด์ มองว่า แม้มี สสร. เลือกตั้งมา ก็ความคิดไม่ต่างกับนักการเมือง ถ้าแก้ความขัดแย้งไม่สำเร็จ หนังม้วนเก่าอาจกลับมาฉายอีก ถ้ามาตราใดไม่พอใจก็เสนอให้รัฐสภาแก้ไข แต่เสนอมาแก้ไขทั้งฉบับ ตนประกาศเลยว่ไม่เห็นด้วย เพราะแก้ทั้งฉบับประชาชนไม่ได้อะไร พืชผลการเกษตร ราคาน้ำมันไม่ถูกลง เพียงแก้เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองโกงเท่านั้น
เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ตนไม่อยากให้ ส.ว. มีภาพว่า เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาลตลอด แต่ไม่เอาด้วยกับฝ่ายค้านเลย แต่ญัตติดังกล่าว ส.ส.ทั้งสภาฯ เห็นชอบมาในทางเดียวกันเป็นเอกฉันท์ จึงได้สะท้อนว่า ส.ส.เห็นแล้วว่าเป็นเรื่องควรทำ และการทำประชามติย่อมต้องใช้งบประมาณอยู่แล้ว การจะอ้างเรื่องงบประมาณมาว่าไม่เห็นชอบกับการทำประชามติ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่
และประเทศไทยหลังใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มาเป็นเวลานาน มีปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ ส่วนหนึ่งก็มาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งแก้ไขยาก ต้องทำประชามติ และการทำประชามติต้องให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายเห็นชอบไปเพียงเรื่องเดียวคือเรื่อง กฎหมายเลือกตั้ง นอกนั้นตกหมด คนที่เสนอญัตติมาเขาก็รู้ว่าวุฒิสภาคงไม่ให้ผ่าน แต่เขาไม่ได้ต้องการว่าผ่านหรือไม่ ในทางการเมือง เขาต้องการเพียงนำผลที่ออกมาไปขยายทำงานการเมืองต่อ
“หากคราวนี้วุฒิสภาไม่ให้ผ่าน เขาก็จะไปหยิบอ้างว่า นี่แหละ ส.ว.ชุดนี้ ไม่เห็นเงาประชาชนเลย มาจากเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่ให้ความสำคัญประชาชน จะนำเหตุนี้ไปกล่าวอ้างช่วงหาเสียง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วเรารู้เท่าทันมันไหม เขากำลังเอาเราเป็นเครื่องมือไปหยิบยกให้เขาสร้างคะแนนเสียง”
เสรี ย้ำเตือนว่า ญัตตินี้เป็นเพียงแค่ข้อเสนอทำประชามติเท่านั้นเอง จะทำได้จริงหรือไม่อยู่ที่ ครม. เป็นผู้พิจารณา แต่เรากลับคิดแทนเขาไปหมดแล้ว หากไม่เอาด้วยกับฝ่ายค้านก็จะถูกหยิบยกไปโจมตีอีก แต่ผลสุดท้ายคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอีกยาวไกล เวลา 5 ปีผ่านมา สมควรแล้วที่เราจะรับเรื่องนี้ไว้ แล้วส่งต่อให้ ครม. พิจารณาต่อไป
วันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายยืนยันว่าเห็นด้วยกับญัตติที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมา เนื่องจากอำนาจจัดทำประชามติอยู่ที่ ครม. เพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่ารัฐสภาหรือภาคประชาชนจะเสนอไป ไม่ผูกพันกับรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลชุดหน้า ล้วนไม่เกี่ยวกับรัฐสภาแต่ประการใด อยู่ที่ ครม. จะทำหรือไม่ก็ได้
วันชัย ยังเน้นย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ทางที่ดีควรเร่งทำในขณะที่ ส.ว.ชุดปัจจุบันยังมีอำนาจ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขได้ แต่หากวันนี้วุฒิสภาไม่ลงมติเห็นชอบกับญัตตินี้ก่อน จะเริ่มนับหนึ่งได้อย่างไร ดังนั้น การที่เราไม่เห็นด้วย เราไมได้อะไรเลย และไม่ได้นับหนึ่งการมีส่วนร่วมแก้ไขแต่อย่างใดด้วย
“ถ้าเราเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ผมเห็นว่าเรามีแต่ได้กับได้ อาจทำให้เรามีโอกาสมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเวลาที่เหลือสั้นๆ 1 ปี และเราได้ภาพจน์ที่ดี อย่างน้อยที่สุดเราก็มีความเป็นประชาธิปไตยในบางส่วน” วันชัย กล่าว