ไม่พบผลการค้นหา
'วิปรัฐบาล' กลับมติ ไม่เลื่อนญัตติ 'ก้าวไกล' เสนอทำประชามติ รธน. ใหม่ แต่เล็งตลบหลังโหวตคว่ำ

วันที่ 25 ต.ค. ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วาระพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ

โดย พริษฐ์ ได้อภิปรายแถลงหลักการและเหตุผลของการเสนอญัตติ โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งเรื่องที่มา กระบวนการ และเนื้อหา และไม่ได้ถูกขีดเขียนด้วยความรู้สึกร่วมของประชาชนเป็นวงกว้าง แต่ถูกขีดเขียนโดยบุคคลไม่กี่คนที่ถูกแต่งตั้งมาโดยคณะรัฐประหาร

พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ประชามติที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ห่างจากมาตรฐานความเป็นประชาธิปไตย ผู้ที่ออกมาคัดค้านก็ถูกจับกุมดำเนินคดี และยังมีเนื้อหาหลายส่วนที่ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศมีความบกพร่อง มีการรับประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ขาดความรัดกุม โดยอ้างความมั่นคงของรัฐ

พริษฐ์ กล่าวด้วยว่า จุดมุ่งหมายของพรรคก้าวไกลคือการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชามีส่วนร่วม ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% แล้วจะต้องมีการทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง คือก่อนและหลัง สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้คำถามประชามติตามที่เสนอไปในญัตติ ไม่ควรคิดแทนประชาชนว่าเนื้อหาส่วนไหนควรแก้หรือไม่ควรแก้ แต่เราควรตั้งคำถามที่เปิดกว้างต่อความคิดเห็นของประชาชน

จากนั้น ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกมีการอภิปรายแสดงความเห็นต่อญัตติกันอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) อดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาล ได้เปิดเผยมติของวิปรัฐบาลว่าจะขอเลื่อนวาระอื่นขึ้นมาแทรกญัตติการทำประชามติแทน แต่ปรากฏว่าการประชุมได้ดำเนินไปตามระเบียบวาระปกติ

ทั้งนี้ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล ยอมรับว่า วิปรัฐบาลกลับมติ เนื่องจากเป็นความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอมายังวิปรัฐบาล หลังจากที่นำมติวิปรัฐบาล ไปหารือในที่ประชุมของแต่ละพรรค เมื่อ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะให้การประชุมสภาฯ พิจารณาไปตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่เป็นการเสียหน้าแต่อย่างใด เพราะตัวแทนของ สส. ที่เป็นวิปรัฐบาลถือเป็นตัวแทนของพรรค ส่วนการปฏิบัตินั้นต้องผ่านการหารือของพรรคแต่ละพรรคที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง

ส่วนผลการลงมติญัตติดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางใด ศรัณย์ กล่าวว่า ต้องรอฟังการอภิปรายจากที่ประชุมสภาฯ อีกครั้ง