ไม่พบผลการค้นหา
การซื้อพวงหรีดกระดาษรีไซเคิล 1 พวง เพื่อแสดงความอาลัยต่อคนรัก สามารถส่งต่อเรื่องราวดีๆ ได้มากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างงานกับชุมชน คนชรา และบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสอย่างไม่รู้ตัว

“พวงหรีดเป็นสิ่งหนึ่งที่ยังไงเราต้องส่ง ต้องใช้ ตอนแรกมีหลายๆ คนถามว่า ทำไมไม่ทำช่อดอกไม้สำหรับวันเกิดอะไรงี้ แต่วันเกิดมันส่งของได้ร้อยพันอย่างเลยนะ แต่สำหรับพวงหรีดมันก็ต้องเป็นพวงหรีดเท่านั้นอะ เข้าใจใช่ไหมครับ” บิ๊ก - ปริชญ์ รังสิมานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘แคร์เนชั่น’ (Carenation) บอกกับเราด้วยน้ำเสียงจริงจัง แววตาของเขามุ่งมั่น เมื่อพูดถึงธุรกิจใหม่ที่กำลังทำอยู่ นอกเหนือจากการนั่งแท่นผู้บริหารของปุ๋ยตรา ‘พาริช’ ที่มีวางขายทั่วประเทศ

carenation7.jpg
  • ปริชญ์ รังสิมานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘แคร์เนชั่น’ พวงหรีดกระดาษรีไซเคิล

‘แคร์เนชั่น’ คือผู้ผลิตพวงหรีดกระดาษรีไซเคิล 7 แบบ ที่มีการออกแบบอย่างปราณีต และเล่นสีสันไล่สลับกับสัดส่วนเว้าโค้งของกระดาษอย่างดึงดูดสายตา มากไปกว่านั้นยังโดดเด่นด้วยการตั้งชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ เช่น อัสดง ชมพูทับทิม ขาวบริสุทธิ์ น้ำเงินคราม ฯลฯ ทว่าหากพูดเพียงเท่านี้ คงเหมือนแคร์เนชั่นจะเป็นธุรกิจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องการจะนำเสนอดีไซน์ และเน้นคอนเซ็ปต์แปลกตา ดีต่อใจ ดีต่อสิ่งแวดล้อม ที่เห็นกันดาษดื่นทั่วไปเท่านั้น

แต่ไม่ใช่ - เพราะแคร์เนชั่น คาดหวังอะไรมากกว่านั้น ปริชญ์บอกว่า เขาก่อตั้งแคร์เนชั่นร่วมกับ เอิร์ธ-สรณัญช์ ชูฉัตร นักออกแบบที่เคยได้รับรางวัลเรด ดอต ดีไซน์ อวอร์ด (Red Dot Design Award) เพราะต้องการสร้างสังคมแห่งการให้อย่างยั่งยืน

carenation5.jpg

ก่อนจะมาทำพวงหรีดกระดาษ ปริชญ์กับเพื่อนของเขาเคยช่วยหาเงินมอบให้องค์กรการกุศลหลายๆ องค์กร เช่น บ้านลูกเหรียงบ้านรับเลี้ยงเด็กกำพร้าจาก 3 จังหวัดชายแดน

“ก็ช่วยมาทุกปีๆ แต่มันไม่ยั่งยืนนะ ต้องมาโทร.ขอตังค์คนอื่น เลยอยากทำให้อะไรสักอย่างที่ยั่งยืน”

ในสายตาของปริชญ์มองว่า การสร้างความยั่งยืนต้องทำเป็นธุรกิจ และต้องเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

“ตอนนั้นไปงานศพผู้ใหญ่คนหนึ่ง ก็มีพวงหรีด 200-300 พวง คิดมูลค่าพวงหนึ่งประมาณ 2,000 บาท พวงหรีดทั้งงานมูลค่า 4-6 แสนบาทเข้าไปแล้ว คือมันเป็นมูลค่าความสวยก็จริง แต่เงินหลายแสนถึงเป็นล้านบาทถ้าบางส่วนเอามาช่วยสังคมน่าจะเป็นสิ่งดี ผมเลยคิดทำธุรกิจ เพื่อเอาเงินบางส่วนมาช่วยสังคมให้ดีขึ้น”

แคร์เนชั่นจึงเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา มาจนถึงวันนี้ก็นับได้ 6 เดือนแล้ว


พวงหรีดแห่งอาลัย สู่พวงหรีดแห่งการให้
carenation1.jpg

ปริชญ์เล่าคอนเซ็ปต์การให้ของแคร์เนชั่นว่า แบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยภารกิจหลักคือ การให้แบบ 360 องศา

  • เริ่มจากตัวพวงหรีดที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล หรือกระดาษจากป่าปลูกเท่านั้น คือการรักษาสิ่งแวดล้อม ดีไซน์แบบพับง่าย กำจัดง่าย และสามารถนำไปขายต่อได้ในฐานะกระดาษรีไซเคิลใหม่ได้
  • การบริจาคช่วยเหลือผู้ขาดโอกาส ปริชญ์ชี้ว่า เสาหลักของแคร์เนชั่นคือ การหาเงินให้มูลนิธิต่างๆ อย่างยั่งยืน โดยพวงหรีดหนึ่งพวงจะถูกหักรายได้ 20-35 เปอร์เซ็นต์ บริจาคให้องค์กรต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณะสุข องค์กรด้านสตรี หรือเยาวชน ซึ่งผู้สั่งซื้อจะได้รับใบเสร็จยอดบริจาคทุกครั้ง เพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษี ตั้งแต่ก่อตั้งมาจนกระทั่งวันนี้ แคร์เนชั่นบริจาคเงินไปแล้วมากถึง 529,100 บาท (ยอดเงินเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2562)
  • ให้คืนแก่ชุมชน การดีไซน์จากทีมของสรณัญช์ คือดีไซน์ให้พวงหรีดประกอบง่าย เพื่อให้คนในชุมชนรอบๆ ประกอบได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบมาคอยควบคุม ปริชญ์ใช้วิธีจ้างคนในชุมชนแถวบ้านของเขา ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ใช้เวลาว่างมาทำพวงหรีด อีกทั้งยังจ้างคนละแวกบ้านมาเป็นเมสเซนเจอร์ส่งพวงหรีดด้วย
carenation6.jpg

พี่น้อย-กุหลาบทอง ผลภิญโญ คือแม่ค้าขายหมูปิ้งในตอนเช้าย่านพัฒนาการ 32 ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งออฟฟิศปุ๋ยพาริชของปริชญ์ เธอลุกขึ้นจากเตียงตั้งแต่แสงแรกยังไม่สาดส่องปลุกคนเมือง และปิดร้านนช่วงสายๆ เมื่อของขายหมด จึงเก็บข้าวของกลับบ้าน งีบหลับจนถึง 4 โมงเย็น

“ก็ไม่ได้ทำอะไรอีก พอดีคุณบิ๊กเขาเป็นลูกค้าประจำ แล้วเขาก็ชวนว่า พี่น้อยไปช่วยผมทำพวงหรีดหน่อย” กุหลาบทองเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ระหว่างปิ้งหมูขายบริเวณทางเท้า เวลา 9 โมงเช้าที่พนักงานออฟฟิศหาข้าวเช้ากันขวั่กไขว่

แม่ค้าหมูปิ้งบอกว่า เธอดีใจมากที่มีรายได้เสริมเพิ่ม บางทีก็เข้าไปนั่งทำในออฟฟิศของปริชญ์ บางทีก็นำพวงหรีกกลับมาทำที่บ้าน บางเดือนสามารถสร้างรายได้เฉียดหมื่นจากการทำพวงหรีด ซึ่งถูกดีไซน์มาเป็นกระดาษแข็ง และต้องนำมาประกอบ ขึ้นโครงซ้อนทับทีละชั้น ทีละชั้น แต่มันไม่ยาก เพราะตอนแรกมีคนสอนประกอบ จากนั้นขึ้นอยู่กับความละเอียดในการทำงาน และความใส่ใจของช่างแต่ละคน

“เคยทำได้มากสุด 13-14 พวงต่อวัน แต่ถ้าไม่รีบไม่เร่งอะไรมากก็ประมาณ 10 พวง”

carenation3.jpgcarenation2.jpg

เมื่อถามต่อว่า “เธอรู้สึกยังไงกับการมาทำตรงนี้?” กุหลาบทองยิ้มหวานก่อนตอบว่า “อันนี้ผู้ขายได้ ผู้ซื้อก็ได้ ส่วนรวมก็ได้ มันดีนะ คุณบิ๊กเคยบอกว่า ทำบุญทุกวัน แต่ทำวันละนิดๆ พี่ชอบตรงนี้นะ”

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของแคร์เนชั่นในปัจจุบัน คือเรื่องของยอดสั่งซื้อที่ตกอยู่วันละ 10 พวงเท่านั้น ปริชญ์ยังอยากเพิ่มจำนวนมากกว่านี้ เพราะหากเพิ่มจำนวนขึ้นก็สร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น และจะนำเม็ดเงินไปบริจาคมากขึ้นด้วย

“หากจำนวนเพิ่มก็จะมีผลดีต่อการผลิต ตอนแรกหน่วยผลิตมันน้อย มันแพง เราบริจาค 20 เปอร์เซ็นต์ทุกตัว แต่พอเราจำหน่ายได้มากขึ้น พิมพ์เยอะๆ มันถูกลง เราก็พยายามเพิ่มเปอเซ็นต์การบริจาค ตอนนี้ก็ไม่ได้หยุดที่จะบริจาค 20-30 เปอร์เซ็นต์ ถ้ายอดขายมากขึ้น เราก็จะบริจาคได้มากขึ้นไปด้วย”

carenation8.jpg
  • พวงหรีดของแคร์เนชั่น 'อัสดง - ชมพูทับทิม - ขาวบริสุทธิ์ - โบยบิน - น้ำเงินคราม - ฟ้าใส - เขียวขจี' ราคาอยู่ที่ 1,500-3,000 บาท หักรายได้ 20-35 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปบริจาคให้องค์การการกุศล

เมื่อถามต่อถึงฟีดแบ็กของลูกค้าต่อพวงหรีดที่เปลี่ยนโฉมหน้ามาเป็นกระดาษ ปริชญ์ยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายเหมือนกัน ที่พวกเขาจะต้องก้าวข้ามไปให้ได้

“คนยังไม่เข้าใจอีกเยอะ แต่มันก็สมควรจะเป็นอย่างงั้นแหละ เพราะข้อดีของดอกไม้มันคือ ความสดใส แล้วการไว้อาลัยด้วยดอกไม้มันก็ยังสำคัญ เราไม่ได้ต้องการมาแทนพวงหรีดดอกไม้ พัดลม จักรยาน หรือผ้าห่ม ผมแค่ขอเป็นทางเลือกหนึ่ง คนที่อยากบริจาค คนที่ไม่ได้อยากจบแค่ดอกไม้ แต่อยากให้จบที่อะไรอย่างอื่น ส่งมอบให้คนอื่น ผมว่ามันเป็นทางเลือกน่ะครับ”

On Being
198Article
0Video
0Blog