ลองคำนวณกันเล่นๆ ว่าถ้าวัดในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 456 วัด เฉลี่ยสวดศพคืนละ 2 ศาลา นั่นหมายความว่า 1 วัน มีหรีด 912 พวง 1 เดือน มีหรีด 27,360 พวง และ 1 ปี มีหรีด 125,320 พวง ซึ่งสร้างปริมาณขยะจำนวนมหาศาลให้ต้องจัดการ ทั้งขยะย่อยสลายตามธรรมชาติ เช่น ดอกไม้สด และขยะย่อยสลายยาก เช่น พลาสติก โฟม เป็นต้น
หากทุกคนลองเปลี่ยนมาเป็นแสดงความอาลัยด้วย ‘หรีดหนังสือ’ ซึ่งมาพร้อมกับหนังสืออย่างน้อย 1 เล่ม มันอาจส่งผลดีต่อการสร้างค่านิยมใหม่ในประเพณีงานศพ ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และเชื่อมโยงกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลก
จากการทดลองเปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของ ‘หรีดดอกไม้สด’ และ ‘หรีดหนังสือ’ ของศาสตราจารย์กิตติคุณดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ ‘หรีดดอกไม้สด’ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 359 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ โดยคำนวณจากแหล่งปลูกดอกไม้ การขนส่งดอกไม้จากต่างประเทศ การขนส่งหรีดไปวัด และกระบวนการจัดการขยะ ส่วนผลิตภัณฑ์ ‘หรีดหนังสือ’ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 14.4 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือน้อยกว่าหรีดดอกไม้ถึง 2.5 เท่า โดยคำนวณจากการผลิตกระดาษ การพิมพ์หนังสือ การขนส่งหรีดไปวัด และการขนส่งหนังสือไปบริจาค
นอกจากนั้น จากการคำนวณยังแสดงให้เห็นว่า เกือบร้อยละ 90 ของก๊าซเรือนกระจก เกิดจากการปลูกดอกไม้ และการย่อยสลายดอกไม้ในหลุมฝังกลบขยะ ทว่าฟุตพริ้นต์จากการพิมพ์หนังสือคิดเป็นร้อยละ 30 เนื่องจากหนังสือเป็นสิ่งที่อายุยาวนาน สามารถบริจาคต่อเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงไม่สร้างขยะแบบหรีดดอกไม้สดที่เหี่ยวเฉารวดเร็ว
สำหรับจุดเริ่มต้นโครงการ ‘หรีดหนังสือ’ เกิดจากทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของ 2 ประเด็นหลักคือ ปัญหาขยะ และความคุ้มค่า จึงมาพร้อมคอนเซ็ปต์ 2 สร้าง 1 ลด คือ สร้างกุศล สร้างปัญญา และลดปริมาณขยะ เนื่องจากการสั่งหรีดดอกไม้สดราคา 2,000-3,000 บาท ซึ่งอายุเพียงแค่ 5-7 วัน และสูญเปล่ากลายเป็นภูเขาขยะ จนบางวัดต้องออกมาแสดงเจตนาปฏิเสธการรับหรีดดอกไม้สด
ด้านพระราชญาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ยืนยันข้อมูลว่า หรีดดอกไม้สดกำลังสร้างปัญหาขยะล้นวัด พร้อมกับแสดงความคิดเห็นด้วยว่า หรีดหนังสือเหมือนเป็นการรบกวนคนตายจนวาระสุดท้าย ว่าช่วยสนับสนุนการอ่านแก่สังคม โดยเปลี่ยนขยะมูลฝอยเป็น ‘ขยะบุญ’
“ตามวัดต่างๆ พวงหรีดดอกไม้สดเยอะมาก คือเผชิญหน้ากับปัญหาหมาแมวไม่พอ ยังต้องมาเจอกับปัญหาพวงหรีดอีก ซึ่งมันมากเกินไป พระถูกตำหนิ วัดถูกตำหนิ และยังหาวิธีแก้ไขไม่ได้ บวกกับต้องการณรงค์การอ่าน เพราะคนไทยขึ้นชื่อเรื่อง ‘ไม่อ่าน’ และ ‘ไม่ฟัง’ ทางวัดก็เคยจัดทำตัวอย่างหรีดหนังสือออกมา แต่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือธรรมะ เกี่ยวกับการปล่อยวาง เกิดแก่เจ็บตาย หรือรักโลภโกรธหลง ซึ่งเป็นประโยชน์กับคนมารอพระมาสวดศพ
ทว่าหากเปลี่ยนเทียบวัฒนธรรมการอ่านของไทยกับหลายๆ ประเทศแถบยุโรป อาตมาต้องการเห็นโครงสร้างต่างๆ ทางสังคมช่วยสนับสนุนให้เด็กๆ เป็นนักอ่านที่ดีมากยิ่งขึ้น” พระราชญาณกวีกล่าวในวงเสวนาพิเศษเรื่อง ‘หรีดหนังสือ ให้ปัญญา ทางเลือกใหม่ส่งความอาลัย’
แน่นอนว่า พอเอ่ยคำว่า ‘หรีดหนังสือ’ ขึ้นมา คนส่วนใหญ่มักมองเป็นหนังสือธรรมะ แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ไม่ใช่แค่หนังสือธรรมะ แต่เลือกสนับสนุนการอ่านทุกช่วงวัย ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงกระบวนการนำส่งหนังสือต่อไปยังองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยเน้นส่งมอบหนังสือให้พื้นที่ขาดแคลนเป็นลำดับแรก ซึ่งร่วมมือกับภาคีเครือข่ายกว่า 200 แห่ง ที่จะดำเนินการนำหนังสือจากโครงการไปให้บริการกับนักอ่านต่อไป
“คนจะอ่านหนังสือต่อเมื่อได้รับหนังสือน่าสนใจ อยากอ่าน และตรงกับช่วงวัย ทางสมาคมฯ จึงร่วมมือกับเครือข่ายสำนักพิมพ์จัดหนังสือมาครบทุกหมวดหมู่ ซึ่งทั้งหมดเป็นวิธีการเติมหนังสือตามศูนย์เด็กเล็ก หรือกรมราชทัณฑ์ โดยช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐ” สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าว
จากการศึกษาเรื่องพวงหรีดที่เป็นสัญลักษณ์การส่งความอาลัย และความเคารพแก่ผู้วายชนม์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมนิยมของสังคมไทย สุชาดาเปิดเผยกับทีมงาน 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า แม้ปัจจุบันมีหรีดทางเลือกประเภทต่างๆ เช่น หรีดต้นไม้ หรีดผ้าห่ม หรีดพัดลม หรือหรีดจักรยาน แต่หรีดดอกไม้สดก็คงความนิยมเป็นอันดับแรกเสมอ
“ในฐานะคนทำหนังสือเราพยายามมองหาทางเลือกใหม่ๆ โดยพัฒนาจากหรีดจักรยาน หรีดพัดลม แล้วลองทำเป็นหรีดหนังสือ เพราะกลุ่มคนทำงานด้านการส่งเสริมการอ่านจะทราบดีว่า หนังสือเป็นสิ่งขาดแคลน เคยคุยกับทางคุณจรัญ มาลัยกุล มูลนิธิกระจกเงา จนทราบข้อมูลว่าหนังสือเด็กขาดแคลนเยอะมาก ทั้งๆ ที่มีศูนย์เด็กเล็กอยู่ทั่วประเทศ
“จริงๆ แล้วก่อนมาเป็นโครงการ ‘หรีดหนังสือ’ เราตระเวนเสนอไอเดียตามร้านดอกไม้ เพราะเกรงหลายๆ เจ้าจะมองเราเป็นคู่แข่ง มาแย่งส่วนแบ่งตลาด จึงต้องคุยกับร้านดอกไม้กว่า 30 เจ้า ผลปรากฎออกมาว่าพวกเขาต่างเห็นด้วยกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ จากนั้นก็ต้องไปดูว่าใครจะมารับหนังสือต่อ เราก็มีเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ทีเคปาร์ค กรมราชทัณฑ์” สุชาดากล่าว
ในอดีต บางคนเคยพยายามทำหรีดหนังสืออกมา ทว่ากลับไม่ได้รับความนิยมมากนัก โดยส่วนใหญ่ติดปัญหาตรงรูปลักษณ์ และความสวยงาม เนื่องจากทุกคนต่างต้องการแสดงความอาลัยต่อผู้วายชนม์ด้วยสิ่งดีๆ งามๆ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จึงร่วมกับผู้เชี่ยวชาญออกแบบพวงหรีด พัฒนาต้นแบบหรีดหนังสือภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์เรื่องความสวยงาม และก่อขยะน้อยที่สุด จนกระทั่งสามารถคว้ารางวัลด้านการออกแบบจากสมาคมการพิมพ์ไทยมาครอง
ที่สำคัญคือ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เชิญชวนสำนักพิมพ์ และร้านดอกไม้ ให้นำรูปแบบหรีดไปใช้ หรือดัดแปลง โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ใดๆ เพื่อนำร่องทางเลือกใหม่ในการส่งความอาลัยแก่ผู้วายชนม์ และถ้าภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญ และช่วยกันสนับสนุนรณรงค์อย่างจริงจัง ทั่วประเทศจะเต็มไปด้วยหนังสือมากมายมหาศาล
“บางวัดหรีดเข้าไปเป็นร้อยๆ พวงต่อวัน บางวัดสวด 20-30 ศาลาต่อวัด ลองคูณกันเข้าไปสิ จริงๆ แล้วถ้าโครงการมันเวิร์กแล้วเดินต่อไปได้จะเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐอย่างมากเลย” สุชาดาเสริม
ต้องยอมรับว่า ‘หรีดหนังสือ’ นอกจากเป็นผลดีกับวงการหนังสือ ก่อให้เกิดการรักการอ่าน สร้างค่านิยมในประเพณีงานศพ ยังสามารถสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยฝั่งผู้ประกอบการอย่าง เด่นชัย บูรณเกียรติศักดิ์ เจ้าของร้านดอกไม้ Le Bouquet 2 U ย่านบรมราชชนี ระบุเหตุผลของการเข้าร่วมโครงการว่า ส่วนตัวเขารักการอ่านเป็นทุน จึงไม่ลังเลกับการกระโดดลงมาร่วมพัฒนา ‘หรีดหนังสือ’ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
“ช่วง 3-4 ปีก่อน ผมกับภรรยาเคยคิดอยากทำพวงหรีดหนังสือ แต่ออกมาไม่ค่อยสวย เพราะขาดเรื่องนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ แต่หลังจากทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กลับไปทำวิจัย กลายเป็นหรีดหนังสือหล่อหลอมด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในวรรณกรรม สารคดี หรือหนังสือเด็ก ซึ่งกำลังถูกส่งต่อไปให้ผู้ขาดแคลน” เด่นชัยกล่าว
รูปแบบของหรีดหนังสือสามารถเลือกได้ทั้งหมด 6 รูปแบบ ทั้งแบบสี่เหลี่ยมแผนป้าย สี่เหลี่ยมทรงหนังสือตกแต่งแบบมินิมอลลดปริมาณ หรือวงกลมพับเป็นโอริกามิจากวัสดุรีไซเคิล ส่วนเรื่องต้นทุนการผลิต เด่นชัยเปิดเผยว่า ไม่แตกต่างจากหรีดดอกสักเท่าไหร่ ส่วนราคาขายเท่ากับราคาหรีดดอกไม้สดตามท้องตลาด ทว่าหรีดหนังสือให้คุณค่ามากกว่า เพราะมันเป็นแหล่งความรู้ กระตุ้นให้เยาวชนไทยเกิดการเรียนรู้ ผู้ประกอบการร้านดอกไม้ควรสนับสนุน เพื่อให้หนังสือดีๆ ตกถึงมือผู้ที่ปราศจากโอกาส
“กล่องของหรีดหนังสือทำจากกระดาษลูกฟูกรียูสได้ ส่วนดอกไม้จะเลือกเป็นดอกไม้ประดิษฐ์แทน เพื่อการรียูสเช่นเดียวกัน ตัวหนังสือไม่ต้องเป็นห่วงเลย ทางร้านบริการจัดส่งตรงไปยังผู้อ่าน โดยทางลูกค้าเป็นผู้เลือกมูลนิธิ องค์การ หน่วยงานที่ต้องการบริจาค หรือถ้ากลัวหนังสือไปไม่ถึงผู้รับก็สามารถใส่กล่องไปพร้อมกับหรีดที่ส่งไปวัดได้” เด่นชัยทิ้งท้าย