วันที่ 15 มี.ค. ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต พรรคก้าวไกลได้จัดสัมมนาอบรมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เพื่อเตรียมตัวก่อนยุบสภาฯ ซึ่งเน้นย้ำยุทธศาสตร์การหาเสียงโค้งสุดท้าย และแคมเปญในการหาเสียง รวมทั้งปลุกขวัญและกำลังใจว่าที่ผู้สมัคร
โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า อยากพิสูจน์ว่า 4 ปี ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน หากเป็นรัฐบาลจะมีประโยชน์มากกว่า จึงต้องเตรียมความพร้อมในการทำงานเอาไว้ อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลได้วางเป้าหมายว่าต้องได้จำนวน ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อต้องได้มากกว่าพรรคอนาคตใหม่ และได้ ส.ส.เขตครบทุกภาค ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมว่าที่ผู้สมัครพร้อมแล้ว เหลือเพียง 10 เขต
สำหรับกรณีที่มีคนเข้าไปวุ่นวายระหว่างการหาเสียง จะรับมืออย่างไร พิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเข้าใจ ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย และสิทธิในการแสดงออก แต่ต้องมีกระบวนการในการจัดการ แต่หากมีคนเข้ามาป่วนในงานหาเสียง ก็รับประกันได้ว่า จะไม่ทำให้พวกตนเสียสมาธิ ขณะเดียวกันก็จะไม่ทำเหมือนที่เกิดกับ 'ป้านา' ที่ จ.ราชบุรี อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นตอนหาเสียงหรือตอนที่ตนเป็นรัฐบาลแล้ว เพราะเราต้องการให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่พูดคุย เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่ามาด้วยความตั้งใจใช้สิทธิทางการเมืองจริง หรือมาด้วยกรณีที่มีความตั้งใจอื่นแอบแฝง ซึ่งเชื่อว่าทุกคนน่าจะดูออก
ส่วนที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดใจผ่านจดหมายเปิดผนึก อาสาเป็นโซ่ข้อกลางในการก้าวข้ามความขัดแย้ง พิธา กล่าวว่า เราไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งที่ตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องและย้ำว่าการก้าวข้ามความขัดแย้งและจะมีความปรองดองได้ ต้องมีระบบความยุติธรรม มีการเสาะหาข้อเท็จจริง และต้องทำให้วัฒนธรรมคนผิดลอยนวลหมดไปก่อน จึงจะทำให้เกิดความปรองดองที่แท้จริง
ขณะจดหมายที่ พล.อ.ประวิตร เขียนมา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องการตั้งคณะกรรมการมากรองนโยบาย แต่นโยบายของตนเองในพรรคพลังประชารัฐ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ยังทำไม่ได้หลายเรื่อง รวมถึงนโยบายที่สัญญากับประชาชนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็ยังทำไม่สำเร็จ ซึ่งการที่จะทำนโยบายใดนโยบายหนึ่งจะต้องมีกระบวนการ ลงพื้นที่ฟังปัญหากับประชาชนว่าปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วค่อยนำมาปฏิบัติ ดังนั้นคนที่จะนำเอานโยบายของแต่ละพรรคมาปฏิบัติได้จริง ต้องเป็นคนที่คลุกคลีกับประชาชน ไม่ใช่แค่ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง แล้วจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ในประเทศไทย
พิธา กล่าวถึงความเคลื่อนไหวที่รัฐมนตรีและ ส.ส.ในกลุ่มสามมิตร อาจจะย้ายเข้ามาเปิดตัวกับพรรคเพื่อไทย จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อพรรคก้าวไกล ที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่
พิธา กล่าวว่า เป็นกระบวนการที่เราไม่สนใจ และมองว่ากระบวนการของแต่ละพรรคก็คงจะแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรคเพื่อไทยจนถึงทุกวันนี้ พรรคก้าวไกลก็ยังไม่มีปัญหาในการจับมือ
"ส่วนการที่เพื่อไทยรับ ส.ส.ซึ่งเคยสนับสนุน พล.อ.ประวิตร มา มองว่าเป็นเรื่องภายในระหว่างกลุ่มสามมิตรและพรรคเพื่อไทย ตัวผมเองไม่มีวิธีการทำงานในลักษณะนั้น โฟกัสไปที่การนำเสนอนโยบาย และการเตรียมตัวผู้สมัครที่นั่งรอเราอยู่ข้างหลังมากกว่า"
เมื่อถามว่าหากจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แล้วจะทำงานด้วยกันในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หรือไม่ พิธา ชี้ว่า ต้องดูเป็นคนๆ ไป แต่หากมาจากพรรคทหารจำแลงก็อาจทำงานร่วมกันยากหน่อย ขณะเดียวกัน ก็ต้องมองไปข้างหน้า ว่าการทำนโยบายและจุดยืนประชาธิปไตยเข้มแข็งแค่ไหน
ถามว่า หากจัดตั้งรัฐบาล เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำปฏิบัติการมานำอุดมการณ์ก่อน พิธา ระบุว่า เป็นคำถามที่ไม่ถูกต้องในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ เพราะจะปฏิบัติการได้ก็ต้องมีอุดมการณ์ด้วย เหมือนที่ตนได้เน้นย้ำกับผู้สมัครทุกคนว่า ต้องมีทั้งอุดมการณ์และประสิทธิภาพให้ประชาชนไว้ใจได้
"ถ้ามีประสิทธิภาพ ปฏิบัติได้ แต่เป็นการเรียนลัด หาทางลัด ทางอ้อม โดยไม่มีระบบเหลืออยู่เลย แม้ครั้งนี้สำเร็จ ครั้งหน้าอาจจะไม่สำเร็จ เราต้องเอาอุดมการณ์มาเป็นตัวตั้งด้วย แต่ความยากก็คือต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วย ต้องเน้นไปที่ระบบให้เกิดความยั่งยืน"
ส่วนกรณีที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่าสามารถร่วมรัฐบาลกับทุกพรรคการเมือง รวมทั้งก้าวไกล แบบมีเงื่อนไขว่าต้องไม่แก้ไขมาตรา 112 นั้น พิธา กล่าวว่า เราไม่มีเจตจำนงในการร่วมพรรคทหารจำแลงอย่างรวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ เพราะถือว่าเป็นคนทำรัฐประหารสืบทอดอำนาจ และตอนนี้ยังรักษาอำนาจต่อจึงเป็นไปไม่ได้ แม้พรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติจะส่งคนมาเจรจาก็ตาม จะไม่มีข้อตกลงใดๆ และเชื่อว่าคงไม่มีโอกาสได้คุยกัน พร้อมย้ำว่า จะปิดประตูการจับมือ เพราะเราตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อปิดสวิตช์ 3 ป. เลิกแช่แข็งประเทศ ให้ประชาชนได้เห็นแสงสว่างแห่งอนาคต
สำหรับกรณี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่าพรรคก้าวไกลกำลังก้าวสู่การเป็นสถาบันทางการเมือง เหมือนที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นมาในอดีต พิธา ระบุว่า ตนกำลังพยายาม ทำให้พรรคก้าวไกลเป็นสถาบันทางการเมือง แต่นั่นเป็นแค่เรื่องขององค์กร ขณะที่เรื่องของวิถีทาง การทำงาน และอุดมการณ์ก็อาจจะต่างกัน
"ผมต้องการที่จะเห็นสถาบันทางการเมืองอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เห็นนิติรัฐ นิติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียมทางกฎหมาย ให้ประชาชนมีโอกาสทำกิน เช่น สุราก้าวหน้า สามารถที่รักกันผ่านสมรสเท่าเทียมได้ ผมว่านี่คืออัตลักษณ์ของพรรคก้าวไกล ที่ไม่เหมือนใคร ก้าวไกลก็คือก้าวไกล" พิธา ทิ้งท้าย