นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังประชุมคณะทำงานฝ่ายเทคนิคการเลือกตั้งที่มีตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คสช. และกฤษฏีกา ว่า ที่ประชุมได้สรุปปัญหาและอุปสรรค ในการจัดการเลือกตั้ง ทั้งหมด 4 ข้อ คือ 1.ปัญหาพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่ ไม่สามารถประชุมพรรคได้ 2. ปัญหาสาขาพรรคที่จะต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหลายพรรคยังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหม่ เพราะสาขาพรรคเกี่ยวกับการประชุมใหญ่
3.เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง จะสามารถทำได้เมื่อใด เพราะจะต้องไปรับฟังความเห็น จากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งจะเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง และ 4. การบริหารจัดการเลือกตั้งที่ต้องกำหนดเวลาว่าจะบริหารอย่างไร เพราะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ผูกกับกฎหมายหลายฉบับ ที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผูกกับการเลือกตั้งท้องถิ่น กับการได้ กกต.ชุดใหม่ ซึ่งที่ประชุมมีการคิดว่าแผนรองรับในแต่ละเดือนที่จะเกิดขึ้น นอกนั้นเป็นประเด็นปลีกย่อย ที่ไม่ต้องแก้กฏหมาย เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายงบประมาณ หรือ เรื่องบางพรรคไม่สามารถหาทุนประเดิมได้ 1ล้านบาท ภายในเดือน พ.ย. หรือเรื่องที่ต้องหาสมาชิกพรรคให้ครบตามกฏหมาย ก็จะคลายล็อกให้หาสมาชิกได้ ไม่ใช่การปลดล๊อค
ส่วนการเลือกตั้ง จะยังเกิดขึ้นภายในเดือน ก.พ.หรือไม่ นายวิษณุ ไม่กล้ายืนยัน แต่เป็นความคาดหมายว่าจะสามารถบริหารจัดการเวลา หากมีตัวแปรบางอย่าง ที่สมเหตุสมผล อาจจะมีการบวกลบเวลา แต่ต้องอธิบายได้ และรายงานปัญหาการจัดทำไพรมารีโหวต ให้ คสช. เพราะถ้าหากไม่ปลดล็อก ก็จะทำไพรมารีโหวตไม่ได้ ดังนั้นมี 2 ทางเลือก คือ มีหรือไม่มี ไพรมารีโหวต ซึ่งหากมีก็จะต้องให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง จะประชุมใหญ่พรรคการเมืองได้ และหากหาสมาชิกพรรคได้ตามที่กฏหมายกำหนด ก็ไม่สามารถทำไพรมารีโหวตได้ เพราะขึ้นอยู่กับ 3 ตัวแปร ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหา มีทั้ง กกต.สามารถทำได้ทันที หรือ ออกเป็นพ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.และใช้ มาตรา 44 แก้ปัญหา แต่ไม่ใช่ว่าทุกปัญหาต้องใช้ มาตรา 44 ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ แต่การแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่สามารถออกเป็น พ.ร.ก.ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเหมาะสม สุดท้ายขึ้นอยู่กับ คสช. และรัฐบาล