นายบุญชู แพใหญ่ นายกสมาคมประมงจังหวัดพังงา พร้อมด้วย สมาชิกสมาคมเรือประมง เจ้าของเรือประมง แพปลา แม่ค้ารับซื้อปลาและผู้ประกอบธุรกิจประมง และประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่ จ.พังงา เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหามติสรุปผลการยื่นหนังสือให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ที่ศาลาหมู่บ้านทับละมุ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา
โดยชาวประมง จ.พังงาเตรียมรวมตัวเพื่อไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าฯ พังงา เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง และขอคำตอบภายใน 7 วัน หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา ชาวประมงทั่วประเทศ รวมทั้งสมาชิกสมาคมประมงทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล จะพร้อมใจกันจอดเรือหยุดทำการประมงประท้วงรัฐบาล และจะเดินทางไปยื่นถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ด้วย
สำหรับข้อเรียกร้องของชาวประมงที่จะให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไข มีดังนี้
1) ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขอให้ใช้ มาตรา 83 พ.ร.ก.ประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่วยให้ภาคการประมงประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยขอให้เปิดให้คนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยอย่างผิดกฎหมายและเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำบัตรซีบุ๊กได้ เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถทำงานในเรือประมง ซึ่งมีความต้องการแรงงาน จำนวน 50,000 คน และให้มีมาตรการเปิดใช้ตลอดระยะเวลา 2 ปี
2) การซื้อเรือคืน ขอให้หน่วยงานของรัฐเร่งดำเนินการเรื่องการซื้อเรือคืนโดยเร็วที่สุด
3) เรื่องปัญหาของกฎและระเบียบต่าง ๆ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ออกมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการเรือประมงในช่วงระยะหลัง ไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพฯ ทำให้เกิดปัญหา อีกทั้งยังเป็นกฎที่ออกมาเกินข้อกำหนดของอนุสัญญาต่าง ๆ
4) ขอให้กรมเจ้าท่าเร่งรัดการแก้ไข ปรับปรุง กฎข้อบังคับการตรวจเรือที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปหลายเดือนแล้ว
5) ขอให้กรมประมงแก้ไขปัญหากฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ของกรมประมงที่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติงานของชาวประมงในหลาย ๆ ฉบับ
6) ขอให้ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง หรือ Port In – Port Out (PIPO) แก้ไขปัญหาในการแจ้งเข้า – ออก เนื่องจากแต่ละหน่วยและเจ้าหน้าที่แต่ละศูนย์ปฏิบัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน แม้จะมีการร่วมกันจัดทำคู่มือแนวการปฏิบัติแล้วก็ตาม
7) ขอให้แก้ปัญหาค่าบริการรายเดือนของอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบติดตามเรือ หรือ Vessel Monitoring System (VMS) ซึ่งชาวประมงต้องรับภาระในช่วงที่เรือจอด
8) สมาชิกชาวประมงทั่วประเทศ มีมติคัดค้านการที่รัฐบาลจะไปให้สัตยาบันเพื่อรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 (C.188) ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ. 2007
ทั้งนี้ สมาคมประมงทั่วประเทศทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล จะมีหนังสือคัดค้าน และนำไปยื่นที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมกันใน 1 ส.ค. 2561 เวลา 09.00 น.
อีกทั้งยังมีมติให้ยกร่างกฎหมายประมงฉบับชาวประมง และสมาคมเรือประมง จ.พังงา ยังเชิญชวนชาวประมงและผู้เกี่ยวข้องใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนรวมตัวกันล่ารายชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :