ไม่พบผลการค้นหา
ชาวประมง เตรียมยื่น 8 ประเด็นปัญหาให้รัฐบาลแก้ปัญหาจาก IUU Fishing 1 ส.ค. นี้ หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน หยุดเรือออกหาปลาทั้ง 22 จังหวัดชายทะเลไม่ต่ำกว่า 7 วัน

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า ที่ประชุมสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยมีมติให้ผู้บริหารสมาคมฯ นำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคม พร้อมนายกสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล เข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม และร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ และให้สมาคมประมงทั้ง 22 จังหวัด ยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมที่ศาลากลางแต่ละจังหวัด เพื่อให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการแก้ไขปัญหาต่อไป พร้อมกับขอคำตอบภายใน 7 วัน หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนจะหยุดออกเรือหาปลาทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ไม่ต่ำกว่า 7 วัน

โดย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมประมงจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัดที่ประสบความเดือดร้อนมานานกว่า 3 ปีจากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง ระเบียบวิธีปฏิบัติของชาวประมง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing)

ภายหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ใบเหลืองไทยเมื่อเดือน เม.ย. พ.ศ. 2558 แม้ตัวแทนชาวประมงจะประชุมหารือถึงแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหาน้อยมาก จึงได้ทำหนังสือถึงสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเปิดประชุมวิสามัญขึ้นในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเสนอ 8 ประเด็นปัญหาให้รัฐบาลแก้ไขโดยเร่งด่วน ได้แก่

  1. ประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
  2. ประเด็นปัญหากฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
  3. ปัญหากฎหมายประมง
  4. ปัญหาการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO)
  5. ปัญหาเรื่องเรือปั่นไฟ
  6. ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน
  7. ปัญหา VMS
  8. ปัญหากระทรวงแรงงานจะดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188

ปัญหาเร่งด่วนอันดับแรกที่สมาคมประมงจังหวัดชายทะเลเสนอให้ภาครัฐแก้ไข คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง แม้เดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมาอธิบดีกรมประมงจะใช้อำนาจตามมาตรา 83 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ขึ้นทะเบียนแรงงานประมงต่างด้าวได้ประมาณ 1.3 หมื่นราย นอกเหนือจากการจับคู่ระหว่างนายจ้างเจ้าของเรือประมงกับลูกจ้างต่างด้าวได้ 3 หมื่นคนก่อนหน้านั้น แต่ก็ไม่เพียงพอ ล่าสุดยังขาดแคลนแรงงานประมงอีก 4 หมื่นคน จึงเสนอให้ภาครัฐโดยอธิบดีกรมประมงใช้อำนาจตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ขึ้นทะเบียนแรงงานประมง (ซีบุ๊ก) เพื่อเก็บกวาดแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมาเป็นแรงงานประมงโดยเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ขณะนี้เรือประมงพาณิชย์ในไทยขาดแคลนแรงงานหนักมาก เรือไม่สามารถออกทำการประมงเกือบ 2,000 ลำ

อันดับ 2 ที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ คือ ประกาศของกรมประมงวันที่ 17 มี.ค. 2560 ที่ให้เจ้าของเรือประมงต้องดำเนินการ 12 ข้อให้ครบถ้วน อาทิ ต้องมีทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตการทำประมง ใบอนุญาตนายท้ายเรือ ฯลฯ มิเช่นนั้นจะมีความผิดที่มีบทลงโทษรุนแรงตาม พ.ร.ก.การประมง ซึ่งกรมประมงควรดำเนินการในขอบเขตหน้าที่ที่กรมประมงทำก็พอ ไม่ควรไปก้าวล่วงหน้าที่ของกรมเจ้าท่าหรือกรมอื่น ๆ ที่มีบทบัญญัติลงโทษอยู่แล้วหากทำผิด รวมทั้งบทลงโทษที่รุนแรงเกินไปในวิธีการปฏิบัติ เช่น การลืมกรอกรายละเอียดในล็อกบุ๊กการจับปลาในบางวัน ก็มีการปรับสูงเป็นเงินกว่าแสนบาทขึ้นไป หรือกักเรือไว้ก่อน เป็นต้น

ส่วนปัญหาที่กำลังจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1-5 ปีข้างหน้า คือ การที่กระทรวงแรงงานจะดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เรือประมงต้องรื้อเก๋งเรือเพื่อทำห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว ความสูงเพดานเก๋งเรือใหม่ต้องใช้เงินนับล้านบาทต่อราย ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มประเทศอียูมีผู้รับรองภาคีนี้เพียง 3 ประเทศเท่านั้น ทั้งที่มีการรณรงค์มานานถึง 8 ปี แต่ในเอเชียก็ยังไม่มีประเทศใดได้รับการรับรอง หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน จีน ญี่ปุ่น ก็ยังไม่รับรองเพราะมีแค่ความสมาร์ท แต่ชาวประมงเดือดร้อนหนัก

ที่มา: ข่าวสด