ไม่พบผลการค้นหา
คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายในปลายปีหน้าหรือปีถัดไป เพื่อขจัดการใช้หลอดพลาสติกใช้แล้วทิ้ง 4.7 พันล้านหลอดต่อปีในอังกฤษ

ในหนึ่งปี ประเทศอังกฤษมีการใช้หลอดพลาสติก 4.7 พันล้านหลอด ช้อนคนพลาสติก 316 ล้านอัน และที่ปั่นหูที่ก้านทำจากพลาสติก 1.8 พันล้านชิ้น ซึ่งส่วนมากแล้วมักจะกลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งลงสู่แม่น้ำและทะเล โดยส่วนหนึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางระบายน้ำอุดตันอีกด้วย ไมเคิล โกฟ (Michael Gove) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอังกฤษ มีแผนจะขจัดขยะพลาสติกทั้งหมดนี้

มาตรการนี้มีการเปรยมาก่อนแล้วในเดือนเมษายน แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยบรรดานักรณรงค์สิทธิเพื่อผู้พิการว่าหลอดมีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือคนบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันและโรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน หลอดช่วยให้พวกเขาสามารถกินอาหารและเครื่องดื่มได้โดยสะดวกและปลอดภัย

ทางด้านรัฐบาลอังกฤษกำลังจะหารือให้อนุญาตให้มีการขายหลอดในร้านขายยา และให้ร้านอาหารรวมถึงผับต่างๆ สำรองหลอดไว้จำนวนหนึ่งสำหรับลูกค้าที่ต้องการ ส่วนการจำหน่ายหลอดโดยทั่วไปจะถูกกำหนดให้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างเดือนตุลาคมปีหน้ากับเดือนตุลาคมปี 2020

"น่านน้ำและสัตว์ป่าอันล้ำค่าของเราต้องการการคุ้มครองอย่างเร่งด่วนให้พ้นจากภัยร้ายแรงที่พลาสติกใช้แล้วทิ้งก่อให้เกิดได้" โกฟยังกล่าวอีกว่าประเทศอังกฤษกำลังเป็นผู้นำของโลกในการดำเนินมาตรการกำจัดขยะพลาสติก โดยก่อนหน้านี้ได้แบนการใช้ไมโครบีดส์ไปแล้ว และมาตรการเก็บค่าถุงพลาสติกถุงละ 5 เพนนี ก็ช่วยลดปริมาณถุงพลาสติกในระบบลงถึง 1.5 หมื่นล้านถุง

"ผมขอชื่นชมบรรดาผู้ค้าปลีก บาร์ และร้านอาหารที่มุ่งลดการใช้หลอดและช้อนคนพลาสติกแล้ว แต่เราตระหนักว่าเราต้องทำให้ได้มากกว่านี้" โกฟเสริม

แฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่อย่างแมคโดนัลด์และสตาร์บัคส์ในอังกฤษเองก็ได้แสดงความจำนงแล้วว่าจะยุติการใช้หลอดพลาสติกในสาขาต่างๆ โดยเปลี่ยนไปใช้หลอดกระดาษหรือหลอดที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้แทน

แซม เชตัน เวลช์ ที่ปรึกษาด้านการเมืองของกรีนพีซ กล่าวว่าสังคมที่เสพติดการใช้หลอดพลาสติกใช้แล้วทิ้งนั้นเป็นตัวเร่งวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก และปัญหานี้ต้องได้รับการจัดการ สิ่งที่เหล่ารัฐมนตรีทำนั้นสมเหตุสมผลแล้ว

"ถ้าเราจะปกป้องมหาสมุทรของเราจากปัญหาขยะพลาสติกก็ต้องแก้ที่ต้นตอ นั่นหมายความว่าบริษัททั้งหลายที่ผลิตและขายบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องรับผิดชอบ และลดจำนวนพลาสติกที่จะมาถึงมือผู้บริโภคลงด้วย"

ที่มา:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

On Being
198Article
0Video
0Blog