ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เล็งแก้ปัญหาขยะทะเลด้วยการลดใช้และผลิตพลาสติก ร่วมมิือภาคเอกชนที่ผลิตและจำหน่ายพลาสติกในประเทศ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว แสดงเจตนารมณ์ลดการผลิตและใช้พลาสติกใน 'วันทะเลโลก' ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกในทะเลได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2570

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดงานวันทะเลโลก (World Ocean Day) ประจำปี 2561 'Clean Our Ocean ทะเลดี ชีวีมีสุข' ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี เพื่อกระตุ้นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทยและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของนักท่องเที่ยว พร้อมชมภาพยนตร์สารคดี 'Clean Our Ocean ทะเลดี ชีวีมีสุข' ความยาว 40 นาที สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากขยะทะเลส่งผลระยะยาวในรูปแบบของไมโครพลาสติกที่อาจเข้าไปเป็นสิ่งแปลกปลอมในห่วงโซ่อาหารและสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว จึงจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในทะเลปัญหาที่ประชาคมโลกเป็นกังวลมากในปัจจุบัน 

พลเอกสุรศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทย เริ่มใช้กระบวนการทางเศรษฐศาสตร์และกลไกทางการคลังส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตให้ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะต่างๆ เช่น การกำหนดให้เขตอุทยานทางทะเลทุกแห่งปลอดจากถุงพลาสติก การกำหนดพื้นที่ชายหาด 24 แห่ง ใน 15 จังหวัด ให้ปลอดขยะจากการสูบบุหรี่ โดยอยากขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้วันทะเลโลกเป็นจุดเริ่มต้นร่วมกันอนุรักษ์และดูแลท้องทะเลไทยร่วมกัน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และร่วมกันปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นต่อไปรู้จักคุณค่าและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมเข้าไปดูผู้ประกอบการที่หันมาใช้วัสดุที่ไม่ทำลายธรรมชาติ เนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่า เพื่อให้เกิดการใช้และผลิตอย่างยั่งยืน

ด้านนายวีระศักดิ์ รมว. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราจะรณรงค์ให้เป็นนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มีความรับผิดชอบกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ รวมถึงผู้ประกอบการโรงแรมต่างๆ ให้ใช้อุปกรณ์ที่เป็นพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวผลิตให้ผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายง่าย อาทิ หมวกคลุมอาบน้ำและแปรงสีฟัน 

ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ประเทศไทย ใช้เหตุการณ์วาฬครีบสั้นเกยตื้นตาย ที่ จ.สงขลา สาเหตุจากการกินขยะพลาสติกเข้าไปจำนวนมาก เป็นบทเรียนให้เห็นถึงโทษของขยะพลาสติก เพื่อสร้างการรักษ์โลกโดยการลด ละ เลิกผลิตขยะที่ไม่จำเป็น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ที่สำคัญเดินหน้าให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการพัฒนาความรู้และปรับพฤติกรรมการใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน เพื่อจัดการปัญหาขยะและทรัพยากรพลาสติกที่ใช้แล้วตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จัดการฐานข้อมูลพลาสติกในประเทศเพื่อจัดการและแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนระบบการจัดการขยะและคัดแยกขยะที่ดี จัดทำแผนธุรกิจเพื่อการจัดการขยะและพลาสติกเหลือใช้อย่างครบวงจร และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิต คาดว่าจะลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2570 

ส่วนกรณีที่ไทยถูกระบุว่ามีขยะทางทะเลมากเป็นลำดับที่ 6 ของโลก นายจตุพร กล่าวต่อว่า การประเมินมองจากพื้นที่ของประเทศที่อยู่ติดทะเลทั้งหมด และจำนวนประชากร ทำให้ประเมินว่ามีขยะถึง 10 ล้านตัน ซึ่งบางส่วนไม่สามารถจัดเก็บตามวิธีที่ถูกต้องได้ ประมาณล้านกว่าตัน จึงมีบางส่วนที่ไปอยู่ในทะเล เป็นที่มาทำให้ไทยติดอันดับ ซึ่งรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะ จึงเร่งแก้ไขปัญหาขยะบนบกก่อน ถ้าจัดการถูกต้องขยะจะลงทะเลน้อยลง โดย ทส. มีนโยบาย 3 อย่าง คือ เลิกใช้พลาสติก ลดใช้พลาสติก และหานวัตกรรมใหม่ เช่น ทำที่ดักขยะปากแม่น้ำ โดยเริ่มแล้ว หากสำเร็จจะขยายผลทั่วประเทศ ช่วยแก้ปัญหาขยะลงทะเล 

พร้อมกันนี้ ภาครัฐ ผู้แทนองค์กรต่างๆ และภาคเอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และผู้บริโภคพลาสติก ได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์และมีส่วนร่วมลดการผลิตและการใช้พลาสติก เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกและอนุรักษ์ทะเลไทย โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง จนนำสู่การแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: