ไม่พบผลการค้นหา
บนเฟซบุ๊กยังคงเต็มไปด้วยเนื้อหาหรือข้อความที่สร้างความเกลียดชัง เช่นมีการพบข้อความบนเฟซบุ๊กที่แสดงความเกลียดชังชาวโรฮิงญามากกว่า 1,000 ข้อความ และยังมีการเฟซบุ๊กไลฟ์แสดงความเกลียดชังด้วย

สำนักข่าวรอยเตอร์ตรวจสอบและค้นพบว่าเฟซบุ๊กยังคงถูกใช้งานเพื่อเป็นพื้นที่ในการเผยแพร่ความเกลียดชัง และส่งเสริมการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น แม้ว่าเฟซบุ๊กได้สัญญาว่าจะเอาจริงกับการแก้ปัญหาดังกล่าว เช่นในเมียนมา มีการค้นพบเนื้อหาหรือข้อความบนเฟซบุ๊กมากกว่า 1,000 ข้อความที่แสดงความเกลียดชังและส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา มีการใช้คำหยาบคายเรียกชาวโรฮิงญา มีการเรียกร้องให้กวาดล้างชาวโรฮิงญาให้หมดไปจากเมียนมา ซึ่งบางข้อความถูกโพสต์อยู่บนเฟซบุ๊กมานานกว่า 6 ปีแล้ว ก็ยังไม่ถูกลบออกไป 

เฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเมียนมา นับตั้งแต่ปี 2013 ที่รัฐบาลเปิดเสรีด้านธุรกิจโทรคมนาคม และมีการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการใช้สมาร์ทโฟนแพร่หลายมากขึ้น จนปัจจุบันคนเมียนมากว่า 80% ครอบครองสมาร์ทโฟนแล้ว 

ความนิยมในเฟซบุ๊กทำให้มีคนบางกลุ่มในเมียนมา เช่น พระสงฆ์กลุ่มหัวสุดโต่ง หันมาใช้เฟซบุ๊กเป็นแพลทฟอร์มในการเผยแพร่แนวคิด รวมถึงเป็นศูนย์กลางการกระจายข่าวสารต่างๆเพื่อปลุกกระแสชาตินิยมพุทธ โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การโจมตีกลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศ โดยหลังจากเกิดความรุนแรงรอบล่าสุดในยะไข่เมื่อปลายปี 2017 ที่ผ่านมา ทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนต้องหลบหนีออกนอกประเทศไปยังบังกลาเทศ เฟซบุ๊กก็ถูกกดดันอย่างหนักให้ปราบปราบการเผยแพร่ความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมในแพลทฟอร์มของตนเอง

รอยเตอร์ยังรายงานอีกด้วยว่าเฟซบุ๊กได้จ้างบริษัทเอาท์ซอร์ส เพื่อดูแลเรื่องการใช้งานเฟซบุ๊กในเมียนมา ซึ่งมีคนที่ใช้ภาษาเมียนมาได้ประมาณ 60 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาและข้อความที่ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเป็นภาษาเมียนมา ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ เพราะมีคนใช้งานเฟซบุ๊กในเมียนมาเป็นประจำประมาณ 18 ล้านคนต่อวัน