สำนักป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และว่าด้วยความรับผิดชอบในการคุ้มครองของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุว่า ข้อหาว่าด้วยเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นมีระบุไว้ในมาตราที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มาตราดังกล่าวระบุไว้ว่า ข้อหานี้มาจากการกระทำสามประการต่อกลุ่มเชื้อชาติ ความเชื่อ สีผิวหรือที่เป็นรัฐ กล่าวคือ ประการแรก มีการสังหารสมาชิกของกลุ่ม
สอง ทำให้เกิดบาดแผลทางร่างกายหรือจิตใจอย่างสาหัส ถัดมาคือดำเนินการโดยเจตนาเพื่อจะกำจัดกลุ่มหรือคนในกลุ่มทั้งหมดหรือแม้เพียงบางส่วน อีกข้อคือใช้มาตรการกีดกันไม่ให้สมาชิกของกลุ่มมีลูก และมีการบีบบังคับส่งลูกของคนในกลุ่มไปให้กับกลุ่มอื่น นี่เป็นเงื่อนไขของการปฏิบัติสำคัญที่อนุสัญญาระบุไว้ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
แต่อนุสัญญาระบุไว้ด้วยว่า การจะกำหนดว่าการกระทำใดเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต้องมีองค์ประกอบของเจตนารวมอยู่ด้วย ซึ่งนั่นทำให้การพิสูจน์อาชญากรรมนี้ทำได้ยาก เพราะจะต้องมีหลักฐานที่ทำให้เห็นได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาในอันที่จะทำลายคนในกลุ่มหรือทั้งกลุ่มด้วยการกำจัดในทางกายภาพซึ่งนั่นหมายถึงชีวิต การทำลายในทางวัฒนธรรมยังไม่นับรวมเข้าไปด้วย เช่นเดียวกันกับเจตนาในอันที่จะขับไล่ก็ไม่นับรวมเข้าไปด้วยเช่นเดียวกัน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักงานระบุว่า ด้วยเหตุนี้ คดีที่เกี่ยวเนื่องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงมักจะมีการพยายามหาทางเชื่อมโยงระหว่างนโยบายของรัฐหรือแผนการในระดับองค์กรเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพิสูจน์เจตนา แม้ว่าตัวอนุสัญญาเองจะไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ การกระทำต่อเหยื่อต้องเป็นไปในลักษณะที่เห็นได้ว่ามีการกำหนดเป้าหมายในการกำจัดไว้อย่างจำเพาะเจาะจง โดยบอกได้ว่าเป็นเพราะพวกเขาเป็นสมาชิกของกลุ่มใน 4 ลักษณะดังกล่าวมาแล้ว คือการรวมกลุ่มในฐานะรัฐหรือชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ สีผิวหรือศาสนา ซึ่งตามนัยนี้ก็จะนับว่าต้องรวมไปถึงการรวมกลุ่มทางการเมืองด้วย แต่เท่ากับว่า เป้าหมายของการทำลายคือกลุ่ม ไม่ใช่ต้องการทำลายสมาชิกในฐานะที่เป็นตัวบุคคล อีกประการหนึ่งนั้น แม้ไม่ได้แสดงว่าจะทำลายทั้งกลุ่ม คือต้องการทำลายเพียงบางส่วนก็ยังสามารถดำเนินคดีได้
อนุสัญญานี้กำหนดไว้ด้วยว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อาจจะเกิดขึ้นได้ในภาวะที่มีการสู้รบหรือสงครามทั้งภายในและภายนอก และก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในภาวะที่ยังมีความสงบ ซึ่งในประการหลังนั้นอาจจะมีไม่มากนักแต่ก็ยังมีความเป็นไปได้เช่นกัน อนุสัญญากำหนดไว้ชัดว่าผู้เกี่ยวข้องมีหน้าที่ในอันที่จะป้องกันและลงโทษผู้ที่กระทำผิดด้วย
สำหรับผู้ที่เป็นเป้าหมายหลังสุดที่ตกเป็นข้อเสนอให้ดำเนินคดีนี้คือผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เขาผู้นี้ตกเป็นข่าวว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับนายทหารระดับสูงของไทยหลายคน
นสพ.รายงานเอาไว้ว่าเมื่อ 4 ก.ค. 2557 ว่าพล.อ.มิน อ่อง หล่าย เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่สอง การเยือนดังกล่าวเป็นผลมาจากการประสานงานของพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร ผบ.สส.และในฐานะรองหัวหน้าคณะคสช. การเดินทางเยือนไทยหนนั้นผบ.สส.ของเมียนมาได้พบปะกับพล.อ.ธนะศักดิ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะคสช.รวมทั้งได้เข้าพบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตนายทหารระดับสูงที่ยังคงมีบทบาทและบารมีอย่างมากทั้งในกองทัพและในทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการพบปะกันเป็นครั้งที่ 3 ของบุคคลทั้งสอง โดยก่อนหน้านั้นได้พบกันในเดือนม.ค. 2555 และพ.ค. 2556
นสพ.ระบุว่าในการพบปะกันในปี 2555 นั้นเองพล.อ.มิน อ่อง หล่ายบอกกับพล.อ.เปรมขอเป็นลูกบุญธรรมเนื่องจากเห็นว่าพล.อ.เปรมมีอายุเท่ากับบิดาของตน ทั้งยังเป็นนายทหารเหมือนกันอีกด้วย ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เป็นเรื่องที่พิเศษที่พล.อ.มิน อ่อง หล่ายกลายเป็นบุตรบุญธรรมของพล.อ.เปรม เนื่องจากผู้ที่ใกล้ชิดสนิทสนมได้เป็นบุตรบุญธรรมของพล.อ.เปรมนั้นอันที่จริงมีไม่เกิน 20 คน ส่วนใหญ่จะเป็นนายทหารและพล.อ.มิน อ่อง หล่ายน่าจะเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่รั้งฐานะนี้ สำหรับบุตรบุญธรรมคนอื่นๆก็อย่างเช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ เป็นต้น
ไทยรัฐรายงานด้วยว่า ความสัมพันธ์ของทหารไทยและเมียนมาไม่ได้ใกล้ชิดแนบแน่นเฉพาะระหว่างนายทหารระดับสูงเท่านั้น แต่ใกล้ชิดกันในระดับองค์กรเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากการจัดการปัญหาขายแดนสองประเทศที่เป็นไปอย่างราบรื่น นสพ.รายงานว่า การเดินทางมาเยือนไทยของนายทหารเมียนมาผู้นี้ในจังหวะที่นายทหารของไทยได้ดำเนินการในเรื่องที่สวนกระแสประชาคมโลกด้วยการยึดอำนาจเป็นการช่วยให้กำลังใจแก่นายทหารไทยที่เกี่ยวข้อง ทั้งพล.อ.มิน อ่อง หล่ายยังกล่าวสนับสนุนด้วยว่ากองทัพไทยทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วคือปกป้องประเทศ ดูแลประชาชน ทั้งได้ระบุว่าทหารเมียนมาก็เคยพบสถานการณ์ที่เลวร้ายในทำนองนี้มาก่อนในกรณีการลุกฮือเมื่อปี 1988
นอกจากนั้นยังแสดงความเชื่อมั่นในโรดแมปของ คสช.ด้วย พล.ท.พิษณุ พุทธวงศ์ นายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรมเปิดเผยในเวลานั้นว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่ายนั้นใกล้ชิดกับพล.อ.เปรม เมื่อมาเมืองไทยก็จะเข้าเยี่ยมพร้อมของฝากเสมอ มีความสนิทกันเสมือนญาติ และว่าประตูบ้านสี่เสาเทเวศร์พร้อมเปิดต้อนรับนายทหารเมียนมาผู้นี้เสมอ