ไม่พบผลการค้นหา
การเตรียมแก้รัฐธรรมนูญจีน ยกเลิกกฎที่ให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 10 ปี ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจสีจิ้นผิงที่จะบ่อนทำลายความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เรื่องนี้อาจส่งผลดีอยู่บ้างต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน แม้จะไม่ได้ทำให้จีนเปิดกว้างสู่ระบบการค้าเสรีมากขึ้นก็ตาม

การเตรียมการแก้ไขธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของจีน ยกเลิกกฎที่ระบุให้ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ วาระละ 5 ปี ถูกมองว่าเป็นการปูทางให้นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งดำรงตำแหน่งมาแล้ว 1 สมัย และจะครบวาระสมัยที่ 2 ในปี 2022 สามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีวิต ซึ่งเท่ากับเป็นการสืบทอดอำนาจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีน จนกระทั่งนายสีถูกกล่าวหาว่าพยายามจะตั้งตัวเป็นจักรพรรดิ 

ศาสตราจารย์วิลลี เลม แห่งมหาวิทยาลัยจีนฮ่องกง มองว่านี่คือการกลับมาของยุคสมัยของเหมาเจ๋อตุง ผู้ซึ่งแม้เป็นประธานาธิบดีเพียง 5 ปี หรือ 1 สมัย แต่ครองตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์นานถึง 31 ปีจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม รวมศูนย์อำนาจการตัดสินในทุกเรื่องไว้ที่ตนเอง ทำหน้าที่ชี้ชะตาคนหลายร้อยล้านคนได้ ซึ่งเป็นการทำลายหลักตรวจสอบและถ่วงดุล และเป็นอันตรายต่อระบบพรรคคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก เพราะถ้านายสีนำประเทศไปในทางที่ผิดพลาด ก็ไม่มีใครสามารถตรวจสอบหรือสงสัยในตัวเขาได้

AP18058149975124.jpg

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ The Financial Times ของอังกฤษ กลับมองว่าการสืบทอดครั้งนี้เท่ากับการรวบอำนาจในมือของสีจิ้นผิงให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจเป็นผลดีกับการผลักดันนโยบายปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ที่นายสีพยายามผลักดันมาตลอดตั้งแต่ดำรงตำแหน่งในปี 2012 เพียงแต่ยังไม่มีใครรู้ว่านายสีจะเลือกผลักดันประเด็นนี้ต่อหรือไม่เท่านั้น

นับตั้งแต่วันที่นายสีขึ้นครองอำนาจในฐานะประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาก็ยืนยันในนโยบายกระชับอำนาจเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจ ลดความยากจน ปฏิวัติโฉมหน้าอุตสาหกรรมของประเทศจากภาคการผลิตที่ใช้แรงงานราคาถูกไร้ฝีมือ ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและภาคการบริการ การท่องเที่ยว 

AP18057329311152.jpg

6 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปแม้จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ตัวเลขคนยากจนลดลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมจีนเปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นอุตสาหกรรมไอทีและเศรษฐกิจนวัตกรรมมากขึ้น แต่นักลงทุนก็ยังมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างเชื่องช้าเกินไป และที่สำคัญ นักเศรษฐศาสตร์ยังมองว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจในจีนไม่ได้หมายถึงการเปิดสู่ระบบเสรีนิยม เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติเสมอไป

นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่ผ่านมาของนายสี คือการยุบองค์กรและสถาบันหลายแห่งที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจเอกชน ส่งเสริมการร่วมมือ หรือควบรวมกิจการระหว่างรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการไม่ดีนัก เข้ากับกิจการของเอกชน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับนโยบายของรัฐบาลจีนในช่วงต้นทศวรรษที่ 50 มากนัก และนโยบายสนับสนุนรัฐวิสาหกิจ ควบคุมเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ สั่งการจากกรุงปักกิ่ง เลือกเปิดเสรีทางการค้าเฉพาะบางด้านอย่างจำกัดเข้มงวด ก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปตราบใดที่นายสียังคงครองอำนาจ 

นโยบายดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเปลี่ยนโฉมหน้าได้จริง แก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน และกำลังการผลิตล้นเกินได้จริง อัตราความยากจนก็ลดลงจาก 10.2% เมื่อปี 2012 ลงมาเหลือ 3.1% เมื่อปี 2017 ภายใต้การบริหารงานที่เป็นเอกภาพและต่อเนื่อง เพราะมีผู้นำสูงสุดคนเดียวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ในระยะยาว การควบคุมเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ และใช้อำนาจรัฐแทรกแซงระบบเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นเช่นนี้ จะทำให้จีนอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายสีพยายามรวบอำนาจไปจนถึงการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 หรืออาจถึง 4 สุดท้ายการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จจะทำให้เกิดภาวะไร้การตรวจสอบถ่วงดุล และทำให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่าย และจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่อาจเกินเยียวยา