ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาสังคมเรียกร้องผู้ว่าฯ จ.นราธิวาส เป็นเจ้าภาพร้องทุกข์แจ้งความ กรณีชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปี แต่งงานกับเด็กหญิง 11 ปีจากนราธิวาส เข้าข่ายล่วงละเมิด - หาประโยชน์จากผู้เยาว์ พร้อมจี้คณะกรรมการกลางอิสลามฯ ร่วมปกป้องสิทธิเด็กผู้หญิงด้วย

มูลนิธิและองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิเด็กและสตรี 28 แห่ง พร้อมด้วยประชาชนและนักวิชาการจากหลายจังหวัด ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกส่งถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชายชาวมาเลเซีย วัย 41 ปี แต่งงานกับเด็กหญิงวัย 11 ปีจาก จ.นราธิวาสของไทย เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเข้าข่ายล่วงละเมิดผู้เยาว์และหาผลประโยชน์จากผู้เยาว์

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิง ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ก็ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 แต่ผู้ล่วงละเมิดทางเพศที่ได้รับอนุญาตจากศาลและเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ การสมรสกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศหากได้รับการอนุญาตจากศาลและเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในขณะที่กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล พ.ศ. 2489 ไม่ได้กำหนดเรื่องอายุขั้นต่ำในการแต่งงาน แต่ให้เป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งเปิดช่องให้ใช้บรรทัดฐานตามประเพณีปฏิบัติที่ยอมรับการแต่งงานของผู้เยาว์ในหลายกรณี แต่เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.254

จากกรณีชายชาวมาเลเซียแต่งงานกับเด็กหญิงอายุ 11 ปีที่ จ.นราธิวาส เป็นการอ้างเหตุผลว่าเป็นไปตามหลักการศาสนาอิสลาม แต่การแต่งงานถูกคัดค้านและร้องเรียนมาก่อนแล้วในมาเลเซีย ทั้งจากองค์กรศาสนาและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

ส่วนองค์กรในประเทศไทยได้เร่งดำเนินการปกป้องคุ้มครองเด็กโดยจัดการประชุมหารือกันเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ จ.ปัตตานี และได้รับคำชี้แจงจากคณะกรรมการกลางอิสลามของทั้งสองจังหวัด ซึ่งระบุว่า การแต่งงานของชายมาเลเซียและเด็กหญิงไทยนั้นไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจากคณะกรรมการอิสลามกลางประจำจังหวัดนราธิวาส พร้อมย้ำว่า การแต่งงานดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง เอกสารร้องขอแต่งงานจัดทำโดยอิหม่ามที่ไม่สามารถประกอบพิธีได้ จึงถือว่าเป็นโมฆะ 

จดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายประชาสังคมดังกล่าว ระบุว่า การแต่งงานของผู้เยาว์ในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน หรือแม้แต่การละเมิดสิทธิเด็ก เช่น กรณีข่มขืน ซึ่งการบังคับแต่งงานถือเป็นทางออกเดียวในการหลีกเลี่ยงความอัปยศและการมีลูกนอกสมรส รวมถึงการแต่งงานเพื่อหนีปัญหาความยากจน และกฎหมายไทยอนุญาตให้ผู้เยาว์แต่งงาน โดยมีข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแห่ง อนุญาตให้ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิง ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 สามารถทำการสมรสกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศหากได้รับการอนุญาตจากศาลและเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม หากยึดหลักการด้านสิทธิมนุษยชนสากล จะพบว่า การสมรสของผู้เยาว์ที่มีวัยต่ำกว่า 18 ปีถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของในด้านการพัฒนาทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และจิตใจ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเศรษฐกิจสังคมในระยะยาว ทั้งยังปิดกั้นโอกาสของเด็กในการใช้ชีวิตวัยเยาว์ ทำลายโอกาสทางการศึกษา และเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายทางสุขภาพ อาจต้องเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการทารุณกรรมในครอบครัว 

เครือข่ายภาคประชาสังคมจึงได้ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนหลักฐานการล่วงละเมิดทางเพศและแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก ในกรณีที่ชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปีแต่งงานกับเด็กหญิงวัย 11 ปี ในฐานะที่ผู้ว่าฯ เป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด มีหน้าที่รัฐผิดชอบโดยตรง เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก เพื่อใช้กระบวนการทางกฎหมายในการช่วยเหลือคุ้มครองและประสานให้เด็กเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะต้องได้รับ รวมถึงดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเพื่อสร้างบรรทัดฐานในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้ยังขอให้คณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสดำเนินการชี้แจงอย่างเป็นทางการว่าประกอบพิธีแต่งงานทางศาสนาอิสลามและดำเนินกระบวนการออกเอกสารสมรสที่ไม่ถูกต้องแก่คนทั้งคู่ได้อย่างไร เพราะทำให้ชื่อเสียงของคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสได้รับความเสียหาย ทั้งยังขอให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี ต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบชัดเจนว่าฝ่ายหญิงสมัครใจที่จะเข้าสู่การแต่งงานหรือไม่ และต้องเร่งออกมาตรการป้องกันการแต่งงานก่อนวัยอันควรของผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ขณะที่รัฐบาลจะต้องประสานกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการพิจารณาคำวินิจฉัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมรสและคุ้มครองสิทธิเด็กให้สอดคล้องตามหลักกาศาสนาอิสลามและพันธสัญญาระหว่างประเทศด้านต่างๆ ที่รัฐบาลไทยมีพันธะผูกพันและต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการยุติการแต่งงานของเด็กและการบังคับการแต่งงาน รวมถึงป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมายของทั้งสองประเทศในการแสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิงและผู้หญิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: