สเตรทไทม์รายงานว่า ชายมาเลย์มุสลิมวัย 41 ปี ข้ามชายแดนมาเลเซีย-ไทยเพื่อมาแต่งงานกับเด็กผู้หญิงสัญชาติไทย อายุ 11 ปี ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่า ก่อนการแต่งงาน เขาได้พบกับผู้ปกครองของเด็กผู้หญิงคนดังกล่าว และผู้ปกครองก็ยินยอมและเห็นด้วยกับการแต่งงานในครั้งนี้
เรื่องราวของเจ้าบ่าววัย 41 ปี และ เจ้าสาววัย 11 ปี กลายเป็นประเด็นในโลกโซเซียลของมาเลเซียและไทยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ภรรยาคนที่สองของเขาโพสต์แสดงความยินดีกับการแต่งงานครั้งที่ 3 ของสามี โดยทางเจ้าบ่าวกล่าวว่า เขาพบกับเด็กหญิงคนดังกล่าวขณะที่เธออายุเพียงแค่ 9 ขวบ และเขายังอ้างว่า เขาและเด็กหญิงรักกันมานานกว่า 3 ปีแล้ว
ขณะที่เด็กผู้หญิงคนดังกล่าวระบุว่า เธอไม่คิดมากที่จะต้องเป็นภรรยาคนที่สาม เนื่องจากลูกของเขาก็เป็นเพื่อนของเธอ และพวกเราก็อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวมานานหลายปีแล้ว
ตามกฎหมายชาริอะของมาเลเซีย การแต่งงานกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปีนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ยกเว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากศาลชาริอะเสียก่อน แต่นางวัน อะซิซาห์ วัน อิสมาอิล รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ระบุกับสื่อว่า การแต่งงานของทั้งคู่นั้นผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากศาลชาริอะ
ดาโต๊ะ ตวน มูฮัมหมัด ผู้พิพากษาศาลชาริอะ รัฐกลันตัน กล่าวว่า แม้การแต่งงานดังกล่าวจะเกิดขึ้นนอกประเทศมาเลเซีย แต่ทั้งเจ้าสาวและเจ้าบ่าวคู่นี้ก็ต้องได้รับอนุญาตให้แต่งงานจากศาลชาริอะก่อน
ทั้งนี้ มาเลเซียมีการใช้ระบบกฎหมาย 2 ระบบ คือระบบกฎหมายพลเมืองทั่วไป และระบบกฎหมายอิสลาม หรือชาริอะ โดยตามระบบกฎหมายทั่วไประบุว่า ประชาชนที่ไม่ได้เป็นมุสลิม จะแต่งงานได้เมื่อมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ขณะที่กฎหมายชาริอะเปิดทางให้หญิงมุสลิมแต่งงานได้เมื่ออายุ 16 ปี และผู้ชายอายุ 18 ปี
รายงานของศูนย์วิจัยทรัพยากรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อผู้หญิง (ARROW) และพี่น้องอิสลาม (SIS) ระบุว่า ในมาเลเซีย มีเด็กเชื้อสายมาเลย์ทั้งชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 153,000 คนที่แต่งงานแล้ว โดย 80,000 คนในนี้เป็นเด็กผู้หญิง ทั้งยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีกว่า 16,000 คนที่แต่งงานแล้วเช่นกัน นักกิจกรรมเคลื่อนไหวในมาเลเซียจึงได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียปฏิรูปกฎหมายการแต่งงาน เพื่อป้องกันและยุติพฤติกรรมการแต่งงานกับเด็ก
ในรายงานของ ARROW ยังระบุเพิ่มเติมว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนสูง ทั้งยังมีรายได้ประชากรต่อหัวสูงกว่าอินเดีย บังกลาเทศ และไนจีเรีย รวมไปถึงระดับการศึกษาของประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นการแต่งงานในเด็กจึงไม่ได้เกิดจากความจำเป็นด้านการเงินของครอบครัว แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม พร้อมระบุว่า การตีความคัมภีร์อัลกุรอานที่แคบและจำกัด เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการทางกฎหมายของมาเลเซีย
ที่มา Asian Correspondent/ Strait Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: