ไม่พบผลการค้นหา
กสทช. ไฟเขียวเยียวยา 20 ช่องดิจิทัลทีวี พักชำระค่าธรรมเนียมได้ ย้ำหากทำผิดเงื่อนไขสิทธิการพักชำระค่าธรรมเนียมฯ จะมีผลแค่ปี61 และอาจกระทบต่อการพิจารณาขอพักชำระค่าธรรมเนียมฯ ในปีต่อไป

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การนัดผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีมาในวันนี้ (7 มิ.ย.) เพื่อชี้แจง ซักซ้อม และรับหนังสือผลการพิจารณาตามข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 ซึ่งระบุว่า "หากผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลรายใดไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ ให้ทำหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วัน เพื่อขอพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ไม่เกิน 3 ปีนับแต่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน กสทช."


66177.jpg

ผลการพิจารณา ปรากฎว่า สำนักงาน กสทช. อนุญาตให้พักชำระค่าธรรมเนียมฯ ได้ทั้ง 20 ช่องตามที่ร้องขอเข้ามา (ได้สิทธิพักชำระค่าธรรมเนียมทุกช่องที่ขอใช้สิทธิ์ ยกเว้นช่อง 7HD และช่อง Workpoint ซึ่งจ่ายตามงวดเดิม) โดยมีเงื่อนไขคือจะต้องนำดอกเบี้ยนโยบาย มาชำระภายใน 30 วัน หลังได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา การได้รับสิทธิจึงจะสมบูรณ์

แต่หากผู้ประกอบการรายใด กระทำผิดเงื่อนไขในข้อ 9 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 สิทธิการพักชำระค่าธรรมเนียมฯ จะมีผลแค่ปีนี้ (2561) เท่านั้น แต่อาจกระทบต่อการพิจารณาขอพักชำระค่าธรรมเนียมฯ ในปี 2562 และ 2563 โดยจะต้องนำเงินต้นมาจ่ายด้วย 

ทั้งนี้ ยืนยันว่า มาตรการนี้ รัฐบาล และ กสทช. ไม่ได้หวังเข้าไปกำกับดูแลสื่อมวลขนเข้มงวดขึ้น เนื่องจากใกล้วันเลือกตั้งตามที่หลายฝ่ายกังวล เพียงต้องการช่วยเหลือให้อุตสาหกรรมนี้ดำเนินต่อไปได้ และให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่สร้างความขัดแย้งในสังคม

ส่วนการสนับสนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้กับผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เป็นจำนวนเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่า MUX เป็นเวลา 2 ปี ผู้ประกอบการ จะต้องนำใบเสร็จค่าเช่า MUX มาเบิกกับสำนักงาน กสทช. แบบเดือนต่อเดือน จึงจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ

นายฐากร กล่าวว่า ค่าเช่า MUX ของแต่ละช่อง ไม่ได้ต่างกันเกินร้อยละ 10-20 จนเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี กับผู้ให้บริการโครงข่ายฯ เพราะบางรายอาจได้รับส่วนลด เนื่องจาก ตกลงสัญญาเช่าเป็นเวลานาน 

ส่วนการอนุญาตให้ 'กรมประชาสัมพันธ์' สามารถโฆษณาได้ ยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าสำนักงาน กสทช. จะกำหนดหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จ ยืนยัน รายได้ของกรมประชาสัมพันธ์ จะต้องเพียงพอต่อการผลิตรายการเท่านั้น ไม่ใช่การเปิดช่องให้หารายได้เป็นพันล้านตามความกังวลของสังคม

ข่าวเกี่ยวข้อง :